วันพฤหัสบดีที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2551

เด็กปัญญาเลิศ ทรัพยากรมนุษย์ที่ต้องค้นหาและดูแลเฉพาะ


นายนรรัชต์ ฝันเชียร


ตั้งแต่ที่นักจิตวิทยา ได้เริ่มตั้งคำถามมากมายเกี่ยวกับความฉลาดทางสติปัญญาของมนุษย์ว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาได้อย่างไร มีอิทธิพลจากอะไร และทำไมต่างคนถึงต่างมีระดับของความฉลาดทางสติปัญญาที่แตกต่างกัน สิ่งเหล่านี้นำมาซึ่งความกระหายใคร่รู้ของกลุ่มนักจิตวิทยาหลายกลุ่มที่สนใจ พวกเขาได้สร้างแบบวัดและประเมินผลความสามารถทางสติปัญญาของมนุษย์ขึ้นมาอย่างหลากหลายมากมาย ซึ่งก็มีอยู่หลายรูปแบบด้วยกันที่นำมาใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน และแม้จะเป็นในยุคปัจจุบันเอง ความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์ในเรื่องของความฉลาดของมนุษย์นั้นก็ไม่มีทีท่าว่าจะลดลงเลย
สมัยก่อนที่จะเริ่มมีการวัดสติปัญญากันอย่างจริงจังนัก เราอาจแยกคนปกติกับกลุ่มคนที่เข้าข่ายปัญญาอ่อนได้ จากการสังเกตซึ่งจะเห็นได้เด่นชัด แต่สำหรับการแยกคนที่มีปัญญาเลิศออกจากคนปกตินั้น กลับเป็นสิ่งที่ยากกว่า และก็มีคนปัญญาเลิศหลายคนที่ถูกระบุว่าเป็นบุคคลไร้ความสามารถ จากความเห็นที่ไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะในวัยเด็ก ซึ่งโรงเรียนถือเป็นแหล่งการเรียนรู้ที่สำคัญ โดยตามปกตินั้น โรงเรียนก็จะวัดศักยภาพผู้เรียนผ่านการเรียนรู้ ซึ่งบางครั้งเด็กปัญญาเลิศ ก็ไม่ค่อยสนใจที่จะทำตามแผนแบบที่ชวนน่าเบื่อหน่ายนั้นนัก จึงมักที่จะโดนกล่าวว่าเป็นเด็กที่เรียกว่า “เด็กเหลือขอ” อยู่เป็นประจำ แม้กระทั่ง ไอน์สไตน์ นักวิทยาศาสตร์ที่ถือได้ว่าเป็นคนที่มีปัญญาเลิศท่านหนึ่งตอนเด็กเรียนตกวิชาประวัติศาสตร์เพราะไม่สนใจที่จะทำตามคุณครู และมักจะโดนทำโทษเสมอ จากการถามปัญหาแปลกๆกับคุณครูอย่างเช่น “ทำไมมนุษย์บินไม่ได้ ทำไมนกบินได้” ซึ่งคุณครูก็มองว่ามันเป็นเรื่องที่น่ารำคาญ
แต่เมื่อเริ่มมีแบบวัดและประเมินผลความฉลาดทางสติปัญญาขึ้น กลุ่มคนปัญญาเลิศที่เคยถูกมองข้ามก็กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง แบบวัดนี้ช่วยจำแนกระดับของคนที่มีปัญญาเลิศและคนปกติ รวมไปถึงการคัดแยกกลุ่มคนบางกลุ่มที่มีปัญหาด้านสติปัญญาแต่ไม่ได้แสดงออกให้เห็นเด่นชัดได้ ซึ่งใครที่วัดระบบมาตรฐานแล้ว อยู่ในระดับที่เหนือขึ้นไปกว่าความฉลาดแบบปกติ ก็จะถึงว่า “เป็นผู้ที่มีปัญญาเลิศ”
ผู้ที่มีปัญญาเลิศ คือกลุ่มของคนที่ได้ผลลัพธ์จากแบบวัดสูงกว่าคนปกติในเกณฑ์ปกติ ซึ่งสิ่งนี้นับว่าเป็นพรสวรรค์ของแต่ละคนที่อาจจะมีไม่เท่ากัน เพราะจะขึ้นอยู่กับพันธุกรรมเป็นหลัก ความที่เป็นคนปัญญาเลิศนั้น ทำให้การทำงานของสมองจะคล่องตัวมากกว่าคนปกติ มีความเฉลียวฉลาดทำให้สามารถเข้าใจเรื่องราวและใช้ความคิดในเรื่องต่างๆได้อย่างรวดเร็ว และสามารถจัดสรรงานต่างได้อย่างดีและมีประสิทธิภาพ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า คนที่มีปัญญาเลิศ ทุกคนจะประสบความสำเร็จ มีไม่น้อยเช่นกันที่ชีวิตต้องล้มเหลว ซึ่งหลายครั้งก็เป็นเพราะผู้คนรอบข้างไม่มีความเข้าใจในความเป็นปัญญาเลิศ และไม่รู้จะส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาที่เหมาะสมได้อย่างไร ซึ่งเพื่อไม่ให้เกิดเหตุเช่นนี้ขึ้น ผู้มีปัญญาเลิศจึงควรที่จะได้รับการส่งเสริมและพัฒนาอย่างเหมาะสมตั้งแต่เริ่มแรก นั้นก็คือ ตั้งแต่ที่ยังเป็นเด็ก
สำหรับเด็กนั้น คำที่ใช้เรียกเด็กปัญญาเลิศ มีหลายคำ เช่น คำว่า เด็กอัจฉริยะ เด็กปรีชาญาณ เด็กเก่ง เป็นต้น ส่วนคำภาษาอังกฤษที่ใช้ในวงการนี้ก็มีอยู่หลายคำเช่นกัน อันได้แก่
Gifted หมายถึง ผู้ที่มีความฉลาดเฉลียวหรือผู้มีปัญญาเลิศ
Talented หมายถึง ผู้ที่มีความสามารถเฉพาะทาง เช่น ด้านดนตรี ศิลปะ กีฬา
Genius หมายถึง ผู้ที่ระดับสติปัญญาสูง มีผลงานการประดิษฐ์คิดค้นทางวิทยาศาสตร์มาก
เด็กปัญญาเลิศนั้น อาจจะเป็นเรื่องที่บอกแบบชี้ชัดโดยไม่ผ่านการวินิจฉัยไม่ได้ แต่กลุ่มเด็กที่เข้าข่ายมีสติปัญญาดีก็อาจเป็นเรื่องที่พอสังเกตได้ไม่ยากนัก ส่วนใหญ่เด็กที่มีสติปัญญาดีมักที่จะไม่ค่อยอยู่นิ่ง มีความสนใจในสิ่งนู้นสิ่งนี้ตลอดเวลา ชอบการสร้างสรรค์ผลงานด้วยจินตนาการและความคิดของตัวเอง บางครั้งก็มักจะเล่นของเล่นต่างจากวิธีการเล่นของเล่นนั้นตามปกติ ผลงานที่เด็กกลุ่มนี้ทำจะออกมาอย่างสร้างสรรค์และมีเป้าหมายที่ต้องสื่อชัดเจน เขาอาจไม่ค่อยจะสนใจการเรียนการสอนที่ที่เป็นการหมุนเวียนแบบเดิมๆ และก็มักที่จะเลือกทำเฉพาะเรื่องที่ตัวเองชอบ ซึ่งถ้าผู้สอนไม่เข้าใจ ก็อาจจะตัดสินใจเด็กไปว่าเป็นเด็กขี้เกียจและมีปัญหาด้านการเรียนรู้ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง
แต่อย่างไรก็ดี ปัจจุบันนี้มีหลายหน่วยงานที่ได้ส่งเสริมให้มีการนำเด็กมาทำการทดสอบ เพื่อค้นหาเด็กปัญญาเลิศ โดยเฉพาะเด็กในระดับปฐมวัย เหตุผลก็เพื่อค้นหาและเมื่อพบก็สามารถส่งเสริมให้เขาได้รับการพัฒนาอย่างถูกต้องและเหมาะสมได้ตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งหน่วยงานเหล่านี้มีความเชื่อมั่นว่า ถ้าเด็กปัญญาเลิศได้รับการดูแลที่ดีอย่างเหมาะสมตั้งแต่แรกแล้ว ก็จะทำให้เขาเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีค่ามากของประเทศต่อไปในอนาคตได้
นอกจากนี้ ผศ.ดร.อุษณีย์ อนุรุทธ์วงศ์ ผอ.ศูนย์ส่งเสริมเด็กที่มีความสามารถพิเศษ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ(มศว) หนึ่งในหน่วยงานที่ได้ให้การส่งเสริมเด็กปัญญาเลิศ ก็ยังกล่าวถึงจุดมุ่งหมายที่ต้องการจะผลักดันให้รัฐได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องของการพัฒนาเด็กปัญญาเลิศนี้อย่างจริงจัง และยกระดับการพัฒนาเด็กปัญญาเลิศในระดับโรงเรียนอย่างเหมาะสม โดยการให้ความรู้ พัฒนาครู และสนับสนุนในเรื่องของสื่อการเรียนรู้ต่างๆที่จำเป็น ซึ่งทางรัฐบาลเองก็ได้มีการพูดถึงหลักสูตรเฉพาะที่จะสร้างขึ้นเพื่อการพัฒนาเด็กปัญญาเลิศนี้ด้วยเช่นเดียวกัน นับว่าเป็นเรื่องที่ดีถ้าเป็นจริงเช่นนั้น
เราคงต้องมาดูกันต้องไปว่า ชะตากรรมของเด็กที่ถูกเรียกว่า “ปัญญาเลิศ” หรือ “อัจฉริยะ” นั้น จะเป็นเช่นไรต่อไป ท่ามกลางกระแสสังคมที่กำลังหมุนวนอย่างเอาแน่เอานอนไม่ได้นี้ ซึ่งกระผมก็หวังว่ามันจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดทุกคน
“ใครที่มีลูกหลาน ก็ลองพาไปตรวจวินิจฉัยดูก็ดีนะครับ ไม่แน่ว่าลูกเหลนคุรอาจจะเป็นอัจฉริยะที่สามารถพลิกโลก แบบ ไอน์สไตน์ ก็ได้ ใครจะไปรู้ จริงไหมครับ”

ข้อมูลอ้างอิง
http://www.komchadluek.net/2008/01/31/x_edu_e001_187913.php?news_id=187913
http://www.giftedcenter.org/evos/front/bin/ptlist.phtml?Category=100509
http://www.rmu.ac.th/~specedu/mean2_10.html

ไม่มีความคิดเห็น: