นายนรรัชต์ ฝันเชียร
สวัสดีครับคุณพ่อคุณแม่ทั้งหลาย ใครกำลังมีน้องตัวเล็กๆอยู่บ้างครับ ในวัยเด็กคุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจจะต้องเหนื่อยหน่อยนะครับ เพราะขึ้นชื่อว่าเด็กแล้ว ความซุกซนเป็นสิ่งที่มีในเด็กทุกคนอย่างเลี่ยงกันไม่ได้ ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้กับหลายครอบครัวกันเลยทีเดียว ยิ่งถ้าต้องเลี้ยงเด็กผู้ชายด้วย ก็ยิ่งเหนื่อยกว่าเลี้ยงเด็กผู้หญิงหลายเท่า จริงไหมครับ
ความซนของเด็กนั้นเป็นธรรมชาติของพัฒนาการ เคยมีคำกล่าวว่า เด็กซนคือเด็กฉลาด ซึ่งคำกล่าวนี้ก็เป็นสิ่งที่น่ายอมรับครับ แต่จะเป็นเช่นนี้ ทั้งหมดหรือไม่ ก็ต้องมาดูเรื่องนี้กันก่อนครับ เพราะไม่แน่ว่าความซนของลูกคุณอาจจะไม่ใช่การซนที่มาจากความฉลาดก็ได้ครับ แต่อาจจะเป็นความซนที่มาจากโรคสมาธิสั้นก็เป็นได้
โรคสมาธิสั้นคืออะไร
โรคสมาธิสั้น (Attention Deficit/Hyperactivity Disorder (ADHD) คือ โรคทางจิตเวชที่ก่อให้เกิดการขาดความตระหนักและความสนใจจดจ่อกับสิ่งรอบตัว มีความเกี่ยวข้องกับคำว่า Focus(สมาธิ) โดยโรคนี้นั้นประกอบด้วยพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ 3 อาการ คือ สมาธิสั้น(Inattention) ซุกซนอยู่ไม่นิ่ง(Hyperactivity) และหุนหันพลันแล่น (Impulsivity) แต่ในการจะบอกว่าเด็กคนนั้นจะเป็นหรือไม่เป็นโรคสมาธิสั้นนั้นอยู่ที่ความถี่ของพฤติกรรมเหล่านี้ที่แสดงออกครับ ซึ่งเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นนั้นจากแสดงออกสูงกว่าเด็กปกติ
โอกาสของการเป็นโรคสมาธิสั้น
จากงานวิจัย(Bauermeister ,1994)ได้มีการวิจัยไว้ว่าเด็กผู้ชายจะมีสิทธิ์เป็นโรคสมาธิสั้นได้มากกว่าเด็กผู้หญิงถึงกว่า 3 – 6 เท่า โดยในประเทศไทยจากงานวิจัย(เบญจพร ปัญญายง ,2541) ได้มีการประเมินกลุ่มตัวอย่างเด็กชั้น ป. 4 ในกรุงเทพมหานคร พบว่ามีเด็กถึงกว่าร้อยละ 5.09 เป็นโรคสมาธิสั้นนี้
โรคสมาธิสั้น เกิดจากสาเหตุใด
โรคสมาธิสั้นเกิดขึ้นจากการที่สมองทำงานไม่สมบูรณ์ครับ คือสมองมีการหลั่งสารต่างๆอย่างผิดปกติ ทำให้ไม่เกิดความสมดุล ซึ่งโรคทางจิตเวชส่วนใหญ่ก็จะเกิดจากสาเหตุนี้ครับ ซึ่งสาเหตุของโรคสมาธิสั้นนี้ มีด้วยกัน 3 ทางครับ ได้แก่
1. จากพันธุกรรม
โรคสมาธิสั้นนี้สามารถถ่ายทอดกันในระดับยีนส์ครับ เช่นจากจากมารดาสู่บุตร หรือจากการที่แฝดคนใดคนหนึ่งถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมาธิสั้น แฝดคนอื่นก็มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคสมาธิสั้นด้วย นอกจากนี้พี่น้องร่วมสายเลือดกันก็มีสิทธิที่จะเป็นสมาธิสั้นได้เช่นเดียวกัน
2. การกระทบกระเทือนทางสมอง
นอกจากพันธุกรรมจะมีอิทธิพลต่อการเกิดโรคสมาธิสั้นแล้ว อุบัติเหตุที่ทำให้สมองเกิดการกระทบกระเทือนก็มีผลต่อการเป็นโรคสมาธิสั้นด้วยเช่นกัน
3. สภาพแวดล้อมการเลี้ยงดู
การเลี้ยงดูอย่างขาดการเอาใจใส่หรือการให้ความเอาใจใส่มากจนกลายเป็นการตามใจ สิ่งเหล่านี้คือมูลเหตุที่ก่อให้เกิดโรคสมาธิสั้นได้ครับ
อาการของเด็กที่เป็นสมาธิสั้น
อาการของเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นนั้น จะดูคล้ายคลึงกับเด็กปกติในวัยเดียวกัน ที่ปรากฏอยู่ในชีวิตประจำวัน โดยอาการหลายนี้จะเป็นไปตามเกณฑ์การวินิจฉัยของ DSM-IV-TR criteria
1. ช่างพูด พูดขัด ชอบตอบคำถามก่อนฟังคำถามจบ
2. นั่งไม่ติดที่ ยุกยิก ชอบวิ่ง ปีนป่าย เคลื่อนไหวตลอดเวลา
3. มักเล่นหรือทำกิจกรรมเงียบๆไม่ได้
4. ไม่รอคิว ชอบขัดจังหวะ ชอบแทรก
5. ขาดสมาธิ ไม่มีสมาธิต่อเนื่อง
6. เลี่ยงงานที่ต้องคิดหรือใช้ความพยายาม
7. ลืมกิจวัตรบ่อยๆ
8. วอกแวกง่าย
ซึ่งอาการที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ จะถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมาธิสั้นต่อเมื่อ อายุอยู่ในเกณฑ์ตั้งแต่ 6 ขวบปีขึ้นไป และมีพฤติกรรมเหล่านี้ในชีวิตประจำวันเป็นประจำอย่างน้อย 6 อาการ เกิน 6 เดือน โดยไม่เป็นอาการที่เกิดขึ้นตามลำดับพัฒนาการของเด็ก และต้องไปใช่อาการที่เกิดขึ้นจากการเป็นโรคจิต หรือโรคที่มีพัฒนาการผิดปกติครับ
ข้อแตกต่างระหว่างสมาธิสั้นกับอัจฉริยะ
อาการของโรคสมาธิสั้น อาจจะดูคล้ายคลึงกับเด็กอัจฉริยะ หรือ ที่เรียกว่าเด็กปัญญาเลิศ อยู่หลายส่วน ทั้ง อาการเบื่อง่าย ไม่ค่อยสนใจการเรียนการสอน และมักที่จะซุกซนมากผิดปกติ แต่ถ้าลองสังเกตดูในการทำกิจกรรมของเด็กทั้งสองประเภทจะพบว่ามีความแตกต่างกัน เวลาที่เด็กปัญญาเลิศทำกิจกรรมบางสิ่งบางอย่าง ถึง แม้จะเป็นเวลาไม่นาน แต่ก็จะทำให้เห็นถึงตัวผลงานที่ได้จากการทำนั้นชัดเจน ตรงกันข้ามกับเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นที่จะทำหลายๆอย่าง อย่างไม่เป็นชิ้นเป็นอัน จนทำให้ดูรกหูรกตาไป
ผลกระทบจากการเป็นโรคสมาธิสั้น
1. ผลการเรียนไม่ดีเท่าความสามารถจริง
2. ถูกดุ ตำหนิ และลงโทษ (พ่อแม่ ครู)
3. ไม่มีคนรัก
4. มองตัวเองไม่ดี ความภาคภูมิใจตัวเองต่ำ
5. มีปัญหาทางอารมณ์จิตใจ ปัญหาพฤติกรรม
6. ไม่สนใจการเรียน
7. คบเพื่อนไม่ดี
8. ดื้อ ต่อต้าน มีพฤติกรรม เกเร ก้าวร้าว
สิ่งใดที่อาจจะส่งผลเสียให้เด็กเกิดเป็นโรคสมาธิสั้นได้
พวกเครื่องเล่นเกมส์ต่างๆ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และโทรทัศน์ รวมไปถึง สื่อต่างๆที่เป็นการสื่อสารตั้งแต่ 2 ทางขึ้นไป สิ่งเหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดอาการสมาธิสั้นได้ทั้งสิ้น ยังมีคุณพ่อคุณแม่หลายคนยังเข้าใจผิดว่า การที่ให้เด็กสนใจอยู่กับสิ่งเหล่านี้เป็นเวลานานๆเป็นการส่งเสริมให้เด็กมีสมาธิและทักษะอื่นๆ แต่มันจะเป็นเช่นนั้นหรือ
ความจริงสื่อเหล่านั้นไม่ได้เป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดสมาธิเลย หรือแม้แต่การเสริมสร้างทักษะ ก็ไม่ได้ช่วยสร้างสรรค์ให้เกิดทักษะที่ควรจะได้มากนัก แต่เป็นเพีบงแค่สื่อกระตุ้นให้เกิดความสนใจ อันจะนำไปซึ่งความต้องการไม่รู้จบ ที่เราเรียกกันว่า “การเสพ” เหมือนอย่างเช่นการเสพยาเสพติด
แนวการช่วยเหลือ
นอกจากการใช้ยา ซึ่งต้องเป็นไปตามคำสั่งของกุมารแพทย์ การปรับพฤติกรรมก็เป็นสิ่งที่สามารถจะกระทำได้ เพื่อลดพฤติกรรมต่างๆที่ไม่พึงประสงค์ลง ซึ่งจำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมมือของทุกฝ่าย โดยเฉพาะตัวคุณพ่อคุณแม่ เองและ คุณครูที่สั่งสอนด้วย
1. ต้องยอมรับความเป็นจริงเสียก่อนว่าเด็กกำลังเป็นโรคสมาธิสั้น ซึ่งถ้าได้รับการช่วยเหลืออย่างเหมาะสมและถูกวิธีก็สามารถหายได้
2. ให้การสื่อสารอย่างถูกวิธี โดยให้คำสั่งทีละอย่าง หรือใช้การจดบันทึกช่วยในการจำ
3. ปรับสิ่งแวดล้อม ลดสิ่งที่ล่อตาล่อใจลง ให้ห้องที่เด็กอยู่มาความว่าง สะอาด ไม่รก ส่วนที่โรงเรียนก็ควรให้เด็กนั่งใกล้กับครูผู้สอน และอยู่ห่างจากหน้าต่าง
4. สร้างสมาธิ โดยการเตือนบ่อยๆ อย่างอ่อนโยน และให้แรงเสริมซึ่งเป็นทั้งคำชมเชยหรือของรางวัลเมื่อเด็กมีสมาธิเพิ่มขึ้นจนสังเกตถึงการพัฒนาได้ และบางครั้งในห้องเรียนอาจมีการให้เปลี่ยนกิริยาบทและทยอยให้งานทีละน้อย เพื่อคงความมีสมาธิไว้
5. ในการเรียนการสอนอาจจะต้องมีแผนการเรียนเฉพาะสำหรับเด็กที่มีปัญหาด้านทักษะอื่นๆ และควรให้ความยืดหยุ่นในการเรียนการสอน และพร้อมจะให้มีการสอนตัวต่อตัวในบางครั้ง
ความจริงนะครับ โรคสมาธิสั้นนี้ก็ไม่ใช่โรคใหม่แต่อย่างใด เพียงแต่เป็นโรคที่ยังคงมีการศึกษาอย่างจริงจัง ค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะในประเทศไทย ยังคงให้ความสนใจกันอยู่วงแคบ ซึ่งทำให้ขาดการตระหนักถึงปัญหา และยิ่งปัจจุบันนี้เด็กเป็นโรคสมาธิสั้นที่ไม่ได้เป็นเพราะพันธุกรรม ก็เริ่มมีเพิ่มมากขึ้น ด้วยเพราะการพัฒนาของสื่อเทคโนโลยีที่กระตุ้นให้เด็กสนใจ ประจวบกับนโยบายของรัฐที่ยังคงให้การสนับสนุนแต่สื่อคอมพิวเตอร์ โดยไม่คำนึงถึงผลเสียต่อเด็กในระดับยาว ซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันครับว่า โรคสมาธิสั้นนี้จะแผ่ขยายของไปได้ขนาดไหน คิดดูแล้วสงสารประเทศไทยจริงๆ ว่าไหมครับ…
อ้างอิงข้อมูลจาก
การบรรยายพิเศษ เรื่อง โรคซน – สมาธิสั้นในเด็ก
โดย อาจารย์ นายแพทย์ชาตรี วิฑูรชาติ
กุมารแพทย์ และจิตเวชเด็กและเยาวชน โรงพยาบาลศิริราช
วันที่ 26 ก.พ. 51 ณ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น