วันศุกร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2551

บริบทสังคมไทยกับการสร้างวินัยเชิงบวก

นายนรรัชต์ ฝันเชียร


ในทุกสังคมบนโลกมนุษย์ใบเล็ก ๆ ใบนี้ ความมีวินัย ถือเป็นสิ่งที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตอย่างมากมาย ไม่ว่าคุณจะเป็นชนกลุ่มใด เชื้อชาติใด ต่างก็จำเป็นต้องมีสิ่งที่เรียกว่าวินัย ที่จะต้องสั่งสอนแก่สมาชิกทุกคนในสังคมนั้น ๆ เพื่อให้เป็นแบบแผนให้ยึดถือปฏิบัติในรูปแบบเดียวกัน ซึ่งสิ่งนี้ก็เป็นไปเพื่อการสืบสานวัฒนธรรม การดำรงวิถีชีวิตสังคม การรักษาความสงบ และความเป็นระเบียบเรียบร้อยให้กับบ้านเมือง ความมีวินัยของประชาชนจะนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองได้ไม่ยาก ประเทศใดมีประชากรที่มีวินัย จะมีประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนไปสู่ความเจริญงอกงาม ตามแบบของอาณาอารยประเทศ ซึ่งทุกประเทศต่างก็ปรารถนาให้เป็นเช่นนั้น ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย


การสร้างวินัยนั้น ในแต่ละสังคมล้วนมีการอบรมเลี้ยงดูในเรื่องนี้แก่สมาชิกแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสภาพสังคมและวิถีชีวิตที่จะนำไปสู่การสร้างวินัยในสังคมนั้น ๆ ว่าเป็นเช่นไร อย่างในสังคมไทย ถ้ากล่าวถึงการสร้างวินัยแล้ว ก็ต้องนึกถึงคำพังเพยที่ว่า “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” ซึ่งคำพังเพยนี้ ได้มีอิทธิพลอย่างมากต่อการอบรมเลี้ยงดูเด็กในประเทศไทย โดยเมื่อเด็ก ๆ ที่เป็นสมาชิกใหม่ในสังคมนั้น กระทำตนผิดแปลกจนกลายเป็นอันตรายต่อตนเอง หรือทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ผู้ใหญ่ก็จะใช้การตีพร้อมกับการอธิบายสั่งสอน เพื่อให้เด็ก ๆ จดจำได้ว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการลงโทษ ที่ต้องการให้เด็กจดจำสิ่งที่ตนทำผิดพลาดด้วยความเจ็บปวด เพื่อให้เด็กไม่แสดงพฤติกรรมเช่นนั้นอีก การกระทำเช่นนั้นล้วนเป็นสิ่งที่สืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณ และก็ยังเป็นแบบแผนที่ยึดถือกันอยู่มาจวบจนถึงยุคปัจจุบัน แต่ในบริบทของสังคมโลกที่เป็นไป ทำให้วิธีการสร้างวินัยที่มีมาตั้งแต่ยุคอดีตหลากหลายวิธี เริ่มเสื่อมคลายลง โดยการตีตราว่าเป็นการกระทำที่รุนแรงต่อเด็ก ซึ่งการใช้ “การตี” นี้ก็เฉกเช่นเดียวกัน


การเริ่มต้นของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ได้นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในโลกของเด็กและการอบรมเลี้ยงดูเด็ก จากการที่เด็กคือบุคคลที่ต้องเจริญรอยตามผู้ใหญ่ หรือต้องเชื่อฟังแต่คำสั่งสอนของผู้ใหญ่เพียงอย่างเดียว อนุสัญญา ฯกลับส่งเสริมในทางตรงข้ามคือ การปล่อยให้เด็กเป็นอิสระจากกรอบที่ผู้ใหญ่ต้องการให้เป็น และเปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงความคิดเห็นมากขึ้น รวมไปถึงการป้องกันการล่วงละเมิดเด็กทั้งทางร่างกายและจิตใจ


เราปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจุบันนี้มีเด็กถูกละเมิดสิทธิมากขึ้นในหลาย ๆ ประเทศ โดยเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย ซึ่งก็ด้วยเพราะผู้ใหญ่หลายท่านที่ไม่เข้าใจ ไม่สนใจ หรือไม่ตระหนัก ในเรื่องของเด็กที่ควรจะได้รับการเลี้ยงดู การพัฒนา การส่งเสริม และการให้สิทธิอันพึงประสงค์อย่างเหมาะสม ทั้ง ๆ ที่มันคือหน้าที่ควรทำ บางท่านก็มักมองเด็กว่าเป็นแค่เด็กน้อยผู้ไม่ประสีประสาโลก และอีกหลายท่านก็มองว่าเด็กต้องเป็นบุคคลที่เจริญรอยตามตน ผู้ใหญ่เหล่านี้ขาดการเคารพสิทธิของเด็ก และเมื่อเด็กพยายามที่จะก้าวหน้า หรือก้าวล้ำจากสิ่งที่ตนคาดคิดไว้ ก็พาลกล่าวหาเด็กว่าการกระทำของเด็กนั้นไม่ถูกต้อง และที่น่าตกใจก็คือ บุคคลเหล่านี้มักเข้าไปอยู่ในวงการการศึกษา ซึ่งเป็นส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนมากที่สุด จึงไม่แปลกใจเลย ที่ “การตี” กลายมาเป็นวัฒนธรรมของสถานศึกษา และเป็นสิ่งที่คุณครูยึดถือปฏิบัติ ด้วยเพราะเป็นวิธีการที่ช่วยให้ครูควบคุมชั้นเรียนได้อย่างดีที่สุด แต่สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วหรือ
วัฒนธรรม หลายเรื่องที่เป็นสิ่งที่ดี ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องรักษาดำรงไว้เพื่อคนรุ่นหลัง แต่วัฒนธรรมบางวัฒนธรรมก็ควรที่จะเลือนหายไปตามกาลเวลา ซึ่ง “การตี” ก็ควรเป็นวัฒนธรรมหนึ่งที่ควรที่จะเลือนหายไป ในปัจจุบันนี้ประเทศไทยเริ่มให้ความสำคัญกับการอบรมสั่งสอนและเลี้ยงดูเด็กอย่างสร้างสรรค์มากขึ้น ถึงแม้ “การตี” จะยังคงมีอยู่บ้างตามโรงเรียน หรือในครอบครัวบางครอบครัว แต่การกระทำเหล่านี้ก็มีแนวโน้มจะลดลงอย่างมาก หลังจากที่มีพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ และพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก แต่เมื่อ “การตี” ถูกทำให้กลายเป็นอดีตไปแล้ว ก็ต้องมาตั้งคำถามกันอีกว่า แล้วเราจะใช้วิธีการใดในการอบรมสั่งสอนและเลี้ยงดูเด็กอย่างเหมาะสม


ดร.โจน อี. เดอร์แรนท์ นักจิตวิทยาคลินิกเด็ก และผู้ช่วยศาสตราจารย์สาขาสังคมวิทยาด้านครอบครัว มหาวิทยาลัยมานิโทบา รัฐวินนิเพ็ก ประเทศแคนาดา ได้นำเสนอแนวคิดการเลี้ยงดูเด็กในหนังสือPositive Discipline: What it is and how to do it ซึ่งได้มีการแปลเป็นภาษาไทยในชื่อ การสร้างวินัยเชิงบวก : การสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและวิธีนำไปใช้ โดย ดร.สมบัติ ตาปัญญา นักจิตวิทยาคลินิก และผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชา จิตเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งสามารถเรียกได้ว่าเป็น แนวคิดของการสร้างวินัยเชิงบวก อันเป็นแนวคิดที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน ดร.โจน อี. เดอร์แรนท์ กล่าวไว้ในบทสัมภาษณ์ ที่ได้แสดงออกมาภายในงานเปิดตัวหนังสือดังกล่าว ในรูปแบบภาษาไทย ณ โรงแรมอมารี วอเตอร์เกทส์ ซึ่งจัดขึ้นโดย Save the Children Sweden ว่า ปัจจุบันนี้จำนวนของพ่อแม่ผู้ปกครองที่ได้รับคำแนะนำให้เลี้ยงดูลูกหลานโดยใช้การอบรมเชิงบวกเพิ่มมากขึ้น แต่พวกเขาก็มีคำถามว่า “อะไรคือการอบรมเชิงบวก และเราจะสามารถปฏิบัติในเรื่องนี้ได้อย่างไร”ความหมายของการสร้างวินัยเชิงบวกนั้น ในความเห็นของ ดร.โจน แสดงให้รู้ว่า สิ่งนั้นคือแนวทางในการสั่งสอนและอบรมเลี้ยงดู อันจะช่วยให้เด็กประสบความสำเร็จด้วยการให้ข้อมูลความรู้แก่เด็ก และสนับสนุนการเติบโตของพวกเขา ซึ่งมีหลักปฏิบัติอยู่ 4 ประการด้วยกัน คือ

การหาเป้าหมายการเลี้ยงดูในระยะยาว

ให้ความอบอุ่น (ความรักและความปลอดภัย)

เข้าใจในความคิดและความรู้สึกของเด็ก

การแก้ปัญหา

จากกระบวนการสร้างวินัยรูปแบบนี้ ทำให้เราสามารถเห็นจุดเด่นของการสร้างวินัยเชิงบวก ซึ่งนับเป็นผลดีที่ดูแตกต่างกว่าวิธีการอบรมเลี้ยงดูรูปแบบอื่น ๆ จุดเด่นของการสร้างวินัยเชิงบวกนั้น ได้แก่

1. ไม่ใช้ความรุนแรง และให้เกียรติเด็กในฐานะผู้เรียนรู้

2. รู้จักการค้นหาทางแก้ปัญหาระยะยาวอันเป็นแนวทางในการพัฒนาวินัยในตนเองของเด็ก

3. ได้สื่อสารกันอย่างชัดเจน ในเรื่องของความคาดหวัง กฎ และข้อจำกัดที่พ่อแม่วางไว้ให้เด็ก

4. สร้างความสัมพันธ์ และเคารพซึ่งกันและกัน ระหว่างพ่อแม่และเด็ก

5. เป็นการสอนทักษะที่ยั่งยืนแก่เด็ก

6. เพิ่มพูนความสามารถและความมั่นใจในการรับมือกับสถานการณ์ที่ท้าทายให้แก่เด็ก

7. เป็นรูปแบบสำหรับสอนมารยาท ความรักสงบ ความเห็นอกเห็นใจ การนับถือตนเอง สิทธิมนุษยชน และการเคารพต่อผู้อื่น

จะเห็นได้ว่า แนวคิดของการสร้างวินัยเชิงบวกนั้น นับว่าจะเป็นแนวคิดที่สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กอย่างแท้จริง เพราะเป็นแนวคิดที่ส่งเสริมให้ทั้งผู้ใหญ่และเด็กได้มีโอกาสพูดคุยร่วมกัน และส่งผลต่อการยอมรับสิทธิซึ่งกันและกัน วิธีนี้จะช่วยลดการกระทำความรุนแรงต่อเด็กลงได้ เพราะทั้งเด็กและผู้ใหญ่มีความเข้าใจกันมากขึ้น


ดร.โจน ได้แสดงตัวอย่างการใช้วิธีการสร้างวินัยเชิงบวกกับลูกชายของเธอ ตอนนั้นมีอายุเพียงสามขวบ ไม่ให้โยนแปรงสีฟันลงในชักโครก ซึ่งเธอก็เห็นว่ามันได้ผลที่ดีกว่า การดุด่า การตี หรือการทำท่าทางด้วยวิธีการต่างๆ แล้วยังช่วยให้เด็กน้อยเข้าใจด้วยว่า เพราะเหตุใดจึงไม่ควรทำเช่นนั้น เป็นการรับรู้เหตุผลมากกว่าการลงโทษที่ส่วนใหญ่เด็กไม่รู้เหตุผลว่า ทำไมเขาจึงทำเช่นนั้นไม่ได้


แต่อย่างไรก็ตาม ตัวอย่างที่ ดร.โจน ยกมานั้น แสดงให้เห็นถึงการใช้วิธีการสร้างวินัยเชิงบวกในบริบทของสังคมอเมริกาและยุโรป แล้วถ้าการเลี้ยงดูในบริบทของสังคมเอเชีย หรือในสังคมไทยล่ะ มันจะได้ผลเช่นเดียวกันหรือไม่


ในเรื่องนี้ ดร.โจน ได้แสดงให้เห็นถึงผลการศึกษาที่ค้นพบว่า หลังจากที่ได้ใช้หนังสือนี้เป็นคู่มือนำร่องในเอเชีย โดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญก็พบว่า มีแนวโน้มที่จะสามารถนำหลักการพื้นฐานไปประยุกต์ใช้ได้กับทุกประเทศในภูมิภาค แต่ทั้งนี้ก็มีบางกรณีที่ต้องขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศด้วย เช่น วินัยในการนอน ที่ชาวอเมริกาและยุโรปจะแยกห้องนอนระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ แต่ในเอเชียพบว่า เด็กกับผู้ใหญ่ส่วนมากจะนอนในห้องนอนเดียวกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็จะเป็นการแสดงให้เห็นว่า เรื่องใดจำเป็นหรือไม่จำเป็นในการสร้างวินัยเชิงบวกในประเทศนั้น ๆ


สำหรับประเทศไทย การสร้างวินัยเชิงบวกนั้นอาจเป็นทางออกที่ดีในการพัฒนาการเลี้ยงดูและอบรมสั่งสอนเด็กยุคใหม่ แทนการใช้วิธีการดุด่า หรือการตี เฉกเช่นที่เป็นมาตั้งแต่สมัยก่อน ๆ แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่า ให้ทำการเปลี่ยนแปลงแบบทันทีทันใด ชนิดที่เรียกว่า “ปฏิวัติ” เพราะการนำมาใช้ที่ดีนั้นจำเป็นที่จะต้องมีการประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม ซึ่งการที่เราจะสามารถประยุกต์ใช้ได้ ก็ควรที่จะต้องวางแผนและเริ่มต้นปรับเปลี่ยนทีละน้อย และควรที่จะแผ่ขยายจากการใช้ภายในครอบครัวไปสู่การใช้ในระบบการศึกษาด้วย


และต่อไปนี้ ในช่วงที่การสร้างวินัยเชิงบวกกำลังเติบโตในประเทศไทย ควรที่จะให้ “การตี” กลายเป็นเครื่องปราม มากกว่าที่จะเป็นเครื่องมือในการอบรมสั่งสอนและเลี้ยงดูเด็ก ซึ่งเมื่อไหร่ที่เราสามารถประยุกต์ใช้การสร้างวินัยเชิงบวกได้เหมาะสมแล้ว เมื่อนั้น คำพังเพยที่ว่า “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” ก็จะกลายเป็นเพียงคำพูดติดตลก ที่เป็นส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์บ้านเราเท่านั้นเอง ... มันก็เป็นเรื่องที่ดีไม่ใช่หรือ ?

ปล. ผู้ใดสนใจหนังสือ การสร้างวินัยเชิงบวก : การสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและวิธีนำไปใช้ ติดต่อขอได้จาก องค์การช่วยเหลือเด็กแห่งสวีเดน สำนักงานภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ชั้น 14 มณียาเซ็นเตอร์ ตึกด้านทิศใต้518/5 ถนนเพลินจิต กรุงเทพฯ 10330 โทรศัพท์ 0-2684-1046-7 โทรสาร 0-2684-1048
E-mail :
scs@seap.savethechildren.seWebsite : http://seap.savethechildren.se

ไม่มีความคิดเห็น: