วันอังคารที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2551

เพื่อนในจินตนาการ...การสร้างสรรค์แห่งจิตใจ


ผู้เขียน : นายนรรัชต์ ฝันเชียร

ตอนเป็นเด็กคุณเคยมีฮีโร่ในดวงใจบ้างหรือไม่ หรือเคยสมมติให้ตัวเองมีน้องหรือมีพี่บ้างไหม ลองนึกย้อนกลับไปดูว่า มันเป็นเวลานานเท่าไหร่แล้วที่คุณเคยมีจินตนาการเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ ก่อนที่ช่วงเวลา ช่วงอายุ และยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วจะทำให้คุณลืมเลือนสิ่งเหล่านั้นจนแทบจำไม่ได้
เรื่องของจินตนาการนี้ โดยเฉพาะกับจินตนาการในวัยเด็ก อาจเป็นเรื่องที่ใครๆหลายคนอาจมองว่าเป็นสิ่งที่ไร้สาระหรืออาจจะเป็นสิ่งที่เป็นปัญหา แต่การตัดสินเช่นนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ ซึ่งก่อนที่จะตัดสินว่าจินตนาการนั้นดีหรือไม่ ก็ควรที่จะเข้าใจสิ่งนี้กันก่อน
“จินตนาการในวัยเด็ก” คือสิ่งที่เด็กๆแต่ละคนมีอยู่ในจิตใจ และรวมทั้งคนในยุคต่างๆด้วย ซึ่งถ้ามองย้อนกลับไปเมื่อตอนวัยเด็ก จะพบว่าตัวเองก็มีจินตนาการเช่นนี้ด้วยเหมือนกัน สำหรับจินตนาการนั้น ในวัยเด็กต่างจากวัยผู้ใหญ่โดยสิ้นเชิง เพราะเนื่องจากว่าเด็กยังไม่เข้าใจถึงหลักของเหตุผล และหลักของความเป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้ ซึ่งทั้งสองอย่างนี้เป็นหลักสำคัญที่ผู้ใหญ่สามารถเข้าใจได้เป็นอย่างดี ทำให้จินตนาการของเด็กนั้นจึงดูเป็นสิ่งที่สุดแสนจะมหัศจรรย์และฝันเฟื่อง ซึ่งต่างกับผู้ใหญ่ที่จินตนาการส่วนใหญ่มักไปอิงกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นบนโลก
จินตนาการในวัยเด็กนั้นถือเป็นสิ่งที่ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการเด็ก เพราะนอกจากจะส่งเสริมให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์แล้ว ยังช่วยส่งเสริมความมั่นใจและพัฒนาทักษะทางด้านภาษาด้วย นอกจากนี้สำหรับเด็กที่มักจะโดนแกล้งบ่อยๆ จินตนาการก็เป็นสิ่งที่ช่วยปกป้องและลดความกดดันให้เด็กได้ ซึ่งเด็กแต่ละคนก็จะมีเรื่องราวที่เป็นจินตนาการแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับประสบการณ์รอบตัวที่เด็กแต่ละคนได้พบเจอ ซึ่งส่วนใหญ่ก็หนีไม่พ้นสิ่งที่มาจากภาพยนตร์การ์ตูน ซึ่งนับว่าเป็นสื่อที่เข้าถึงและมีอิทธิพลต่อเด็กมากที่สุด จึงไม่แปลกอะไรที่เด็กๆมักที่จะใช้จินตนาการในการแสดงออกในรูปแบบที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์การ์ตูนที่ได้ดู เช่น การแสดงเป็นพวกซูเปอร์ฮีโร่ หรือการเลียนแบบตัวการ์ตูนต่างๆ และตัวการ็ตูนเหล่านี้เองที่กลับกลายมาเป็น เพื่อนในจินตนาการของเด็ก ที่มีแต่พวกเขาเท่านั้นจะมองเห็น
การที่เด็กมีเพื่อนในจินตนาการนั้น หลายคนมองว่าเป็นพฤติกรรมที่น่าเป็นห่วงของเด็ก เพราะเป็นอาจจะเป็นการสร้างให้เด็กเกิดการปิดกั้นตัวเอง ไม่มีการปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ทำให้เด็กไม่พร้อมในการเรียนรู้ทางสังคมอีกด้วย แต่ความเป็นจริงแล้ว เป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ ซึ่งจากรายงานข่าวเรื่อง “เรื่องปกติลูกมีเพื่อนในจินตนาการ กระตุ้นการสร้างสรรค์-ความมั่นใจ” ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการออนไลน์เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2550 ที่ผ่านมาก็ได้แสดงให้เห็นถึงความเห็นที่เป็นไปในแนวทางที่ดีของบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องในเรื่องนี้มากมาย อาทิเช่น
นักวิจัยจากอินสติติวท์ ออฟ เอดูเคชันในลอนดอนพบว่า เพื่อนที่เด็กสมมติขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นซูเปอร์ฮีโร่หรือมังกรพ่นไฟ ล้วนช่วยส่งเสริมจินตนาการ รวมถึงทำให้เด็กมั่นใจและพูดจาฉะฉานยิ่งขึ้น
คาเรน เมเจอร์ส นักจิตวิทยาการศึกษาที่วิจัยเรื่องนี้ ก็ยังชี้ให้เห็นว่าเด็กที่มีจินตนาการมักสร้างเพื่อนในจินตนาการขึ้นมา ถือเป็นปรากฏการณ์ปกติที่พ่อแม่ไม่ควรเป็นห่วง ซึ่งการสร้างเพื่อนในจินตนาการขึ้นมาของเด็กนั้น ระหว่างเด็กผู้ชายกับเด็กผู้หญิงก็จะมีความแตกต่างกัน โดยเพื่อนในจินตนาการของเด็กหญิงมักจะมีอายุน้อยกว่าตัวเอง ซึ่งตรงข้ามกับเด็กชายที่ชอบเพื่อนสมมติที่อายุมากกว่าตัวเอง และมักจะเป็นตัวละครระดับซูเปอร์ฮีโร่
อีกทั้งในการศึกษายังพบว่า เด็กที่เป็นลูกคนเดียว หรืออายุห่างจากพี่น้อง รวมถึงเด็กที่กำลังจะมีน้องสาวหรือน้องชายคนใหม่ มีแนวโน้มมากที่สุดที่จะสร้างเพื่อนในจินตนาการ นอกจากนี้ในเด็กที่มักจะถูกรังแกหรือเด็กที่ไม่ได้ของที่ปรารถนา ก็มักจะมีการสร้างเพื่อนในจินตนาการมาขึ้นมา ปกป้องหรือช่วยลดความกดดันกับสถานการณ์การถูกข่มเหง และในหลายๆ กรณี
เช่นเดียวกับงานวิจัยของ แอนนา โทบี้ นักจิตวิทยาที่ติดตามผลเด็กอายุ 4-8 ขวบ 20 คน ที่มีสัตว์เลี้ยงที่มองไม่เห็น และมีผู้ปกครองสมมติ ซึ่งพบว่าจินตนาการเหล่านั้นเป็นเรื่องน่ายินดี เนื่องจากเด็กที่มีเพื่อนในจินตนาการมักมีทักษะการสื่อสารดีกว่าเด็กอื่นๆ
ทั้งนี้ในรายงานข่าว นักวิจัยได้ประเมินมีเด็กถึง 65% ที่มีการสร้างเพื่อนในจินตนาการ ในช่วงเวลาหนึ่งของชีวิต
และจากรายงานข่าวขั้นต้นจะเห็นได้ว่าการที่เด็กมีเพื่อนในจินตนาการนั้นถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะในเรื่องนี้นับว่าเป็นพัฒนาการของเด็กอย่างหนึ่ง และการที่เด็กมีเพื่อนสมมติในจินตนาการ นอกจากจะเป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริมให้เด็กมีทักษะที่ดี โดยเฉพาะในด้านการสื่อสารและความคิดสร้างสรรค์ ก็ยังนับว่าเป็นการสร้างกลไกของเด็กในการป้องกันตัวเองจากเหตุการณ์หรือสถานการณ์ที่ไม่พึงปรารถนาอีกด้วย
ดังนั้นพ่อแม่จึงไม่ควรวิตกกับเรื่องนี้จนเกินไป เพราะถึงว่าเป็นเรื่องปกติของเด็ก และอย่าพยายามห้ามปรามหรือทำเป็นไม่สนใจกับเพื่อนในจินตนาการของลูก เพราะจะทำให้เด็กไม่เกิดการเรียนรู้และมีพัฒนาการที่เหมาะสม แต่ก็ควรที่จะดูแลอย่างใกล้ชิด สอบถามถึงเพื่อนในจินตนาการของเด็ก คุยกับเด็กและเสมือนคุยกับเพื่อนในจินตนาการของเด็กด้วย เพราะการที่เด็กสร้างเพื่อนในจินตนาการ อาจไม่ใช่เพราะผลจากพัฒนาการเพียงอย่างเดียว แต่อาจจะเป็นการแจ้งเตือนถึงความแปรปรวนในอารมณ์ของเด็กได้ด้วยเช่นกัน
ซึ่งตามความเห็นของ ดร.หลุยส์ นิวแมน จิตแพทย์เด็กชาวออสเตรเลีย ผู้อำนวยการสถาบันจิตเวชนิวเซาธ์เวลส์ ที่ได้กล่าวว่า เพื่อนในจินตนาการเป็นสัญญาณเตือนถึงความแปรปรวนทางอารมณ์ของเด็กๆ ซึ่งบ่อยครั้งที่เด็กจะสร้างเพื่อนในจินตนาการขึ้นมา เช่นในเวลาที่เหงา เศร้า ไม่อยากเล่นกับเพื่อนๆ เพราะมักโดนแกล้ง ซึ่งก็มีแนวโน้มเกี่ยวพันกับอารมณ์และปัญหาครอบครัวที่รบกวนจิตใจเด็กด้วย
เด็กในวัย 4-8 ขวบ มักจะเป็นวัยที่เริ่มมีเพื่อนในจินตนาการ ซึ่งจะแต่งต่างไปตามแต่ประสบการณ์และจินตนาการความคิดสร้างสรรค์ของแต่คน ที่อาจจะได้พบเห็นจากสิ่งรอบๆตัวของเด็ก สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่พ่อแม่ความให้ความเข้าใจและช่วยส่งเสริมสิ่งที่ดีหรือลดทอนสิ่งที่เป็นปัญหาให้กับเด็ก มากกว่าที่จะมาวิตกกังวลกับสิ่งที่เด็กทำหรือเรียนรู้ เพราะสิ่งเหล่านี้นับว่าเป็นครูที่ดีที่จะช่วยให้เด็กพัฒนาต่อไปได้ตามแนวทางที่เหมาะสม ซึ่งก็จะต้องขึ้นอยู่พ่อแม่ที่จะคอยดูแลประคับประคองให้เด็กไปในแนวทางที่ถูกหรือจะทำการหยุดยั้งมัน แล้วปล่อยให้เด็กเดินไปตามแนวทางของคุณเอง คุณจะเลือกแบบไหนกันล่ะ?...

อ้างอิงข้อมูลจาก

ห้องสมุด E-LIB

“เรื่องปกติลูกมีเพื่อนในจินตนาการ กระตุ้นการสร้างสรรค์-ความมั่นใจ” ผู้จัดการออนไลน์ (www.manager.co.th) 15 กรกฎาคม 2550 13:33 น.

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณมากครับ สำหรับข้อมูล