วันอังคารที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2551

สิทธิแห่งความเท่าเทียมกัน สิ่งสำคัญที่ผู้ใหญ่ควรเป็นแบบอย่าง

ผู้เขียน : นายนรรัชต์ ฝันเชียร


ได้มีโอกาสไปร่วมฟังเสวนาที่จัดขึ้น โดยโครงการสตรีและเยาวชนศึกษา ร่วมกับโครงการศึกษาศิลปศาสตรมหาบัณฑิตสตรีศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(ท่าพระจันทร์) ในหัวข้อเสวนาเรื่อง “เศรษฐศาสตร์การเมืองเรื่องเพศ (Political Economy of gender) ซึ่งได้รับความสนใจจากหน่วยงานและบุคคลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสตรี เยาวชน รวมไปถึงหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิทางเพศ ซึ่งได้ให้ความสนใจในการเสวนาครั้งนี้เป็นอย่างมาก
คำว่า เศรษฐศาสตร์การเมือง (Political Economy) นั้น Webster New World Dictionary ได้อธิบายถึงคำนี้ไว้ว่า เป็นชื่อดั้งเดิมของวิชาเศรษฐศาสตร์ แต่ปัจจุบันเศรษฐศาสตร์การเมืองถือเป็นสำนึกคิดทางเศรษฐศาสตร์เรื่องหนึ่ง ที่มีความแตกต่างจากแนวคิดของสำนักคิดทางเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก ซึ่งความสำคัญของคำว่าเศรษฐศาสตร์การเมือง นั้น เป็นเรื่องที่น่าสนใจเพราะเชื่อมโยงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ ซึ่งในปัจจุบันนี้เป็นวิชาที่แยกออกจากกันอย่างเด็ดขาด ส่วนสำหรับคำว่า เศรษฐศาสตร์การเมืองเรื่องเพศ นั้น ในการประชุมเสวนาในครั้งนี้ ได้ให้สาระสำคัญเกี่ยวกับหัวข้อนี้เอาไว้ว่า เป็นการนำเสนอแนวคิดทฤษฎี และรูปธรรมของความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างเพศที่ไม่เท่าเทียมกันในสังคมไทย จากมุมมองสหวิทยาการในแนวสตรีศึกษาเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจเชื่อมโยงระหว่างกันอย่างเป็นระบบ ซึ่งมีความสอดคล้องกับบรรยากาศของสังคมในตอนนี้ที่อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่ต้องตัดสินใจในการที่จะต้องเลือกเส้นทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและการสร้างวัฒนธรรมใหม่ของความเสมอภาคและความสมานฉันท์
เนื้อหาส่วนใหญ่ของการเสวนามักจะกล่าวถึงสิทธิต่างๆที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างเพศหญิงและเพศชาย และรวมไปถึงเพศที่หลากหลาย(GLBT)อื่นๆ ในแนวทางที่แตกต่างกันไป ทั้งทางด้านธุรกิจ การเมือง และสังคมต่างๆ
ในแวดวงการเมืองนั้น การเปลี่ยนแปลงของการเมืองภาครัฐมีผลกระทบต่อขบวนการทางสังคมต่างๆ ซึ่งโครงสร้างอำนาจนั้น มีผลให้เป็นการเปิดและปิดช่องทางสำหรับการมีส่วนร่วมทางการเมืองของพลเมืองและขบวนการทางสังคมต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มสตรี และกลุ่มเพศที่หลากหลาย ที่มีการปิดกั้นสิทธิทางการเมืองอยู่ ซึ่งนับว่าเป็นการขัดต่อความคิดทางด้านความเท่าเทียมกันทางเพศ
ส่วนในวงการธุรกิจนั้น ผู้หญิงกับผู้ชาย จะมีอัตราการเติบโตและค่าครองชีพที่ต่างกันแทบจะชัดเจน ซึ่งผู้หญิงจะมีอัตราที่ต่ำกว่าชาย อย่างเห็นได้ชัด จึงทำให้ความมั่นคงและการประสบความสำเร็จในเส้นทางธุรกิจนี้ ผู้ชายจะมีสิทธิมากกว่าผู้หญิง
นอกจากนี้ในด้านสังคม กลุ่มสตรีและกลุ่มหลากหลายทางเพศก็ได้มีการเรียนร้องถึงสิทธิที่พึ่งจะได้จากการที่เป็นมนุษย์ที่อยู่บนฐานแห่งความเท่าเทียมกัน สิทธิในการได้รับการยอมรับ สิทธิในการได้รับการปฏิบัติเฉกเช่นเดียวกันเพศหญิงหรือเพศชาย รวมไปถึงสิทธิทางสังคมต่างๆที่พึ่งจะได้
ซึ่งจากสาระสำคัญของการเสวนาจะเห็นได้ว่า ปัจจุบันนี้ การเรียนร้องสิทธิให้อยู่บนฐานแห่งความเท่าเทียมกันของกลุ่มขบวนการต่างๆนั้น นับวันก็จะเริ่มชัดเจนและแข็งแกร่งมากขึ้น สิทธิของสตรีเริ่มพัฒนามาสู่ความเท่าเทียมกับสิทธิของบุรุษมากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการต่อสู้ของกลุ่มองค์กรสตรีที่อยากเห็นการยอมรับในตัวของผู้หญิงโดยทั่วไป และสำหรับกลุ่มเพศที่หลากหลายก็ได้มีการต่อสู้เพื่อให้ได้รับการยอมรับ เช่นเดียวกัน ซึ่งกลุ่มเพศที่หลากหลายบางกลุ่มก็ได้รับการยอมรับ ส่วนอีกบางกลุ่มก็ยังจำเป็นต้องได้รับการพิสูจน์และเห็นด้วยจากสังคม
สิทธิของความเท่าเทียมกันนั้น ผู้ตั้งกฎเกณฑ์และวางแนวทางที่สำคัญก็คือผู้ใหญ่ แต่ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นนั้น นอกจากผู้ใหญ่จะเป็นผู้รับแล้ว เด็กก็เป็นผู้ได้รับผลนั้นด้วย ดังนั้นการเข้าถึงสิทธิความเท่าเทียมกันของเด็กนั้น จึงขึ้นอยู่กับทัศนคติและยุคสมัยที่ผู้ใหญ่ได้วางรากฐานไว้ ถ้าสังคมใดที่ผู้ใหญ่ไม่ได้ส่งเสริมตรงส่วนนี้ เด็กยุคใหม่ก็จะยังไม่เห็นถึงความสำคัญของความเท่าเทียม ตรงกันข้าม ถ้าผู้ใหญ่ในสังคมร่วมมือกันส่งเสริมในด้านสิทธิที่เท่าเทียม ก็จะช่วยให้เด็กมีจิตสำนึกตรงส่วนนี้กันตามไปด้วย
การส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้ความเท่าเทียมกันนั้น ครอบครัวนับว่าเป็นตัวผลักดันที่สำคัญที่สุด ผู้เป็นพ่อและแม่ ต้องรู้จักที่จะส่งเสริมให้เกิดการรักษาและปกป้องสิทธิของกันและกัน ซึ่งจะตัวสำคัยที่จะทำให้เด็กสามารถที่จะเรียนรู้จากจุดนี้ได้ แต่ถ้าครอบครัวไหนมีแม่หรือพ่อทำหน้าที่ควบคุมดูแลสิทธิแต่เพียงผู้เดียวแล้ว ก็อาจกลายมาเป็นตัวแบบที่เด็กจะเลียนแบบจนกลายเป็นบุคคลที่ไม่คำนึงถึงสิทธิความเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเท่าเทียมกันทางเพศได้
สำหรับประเทศไทยกับการส่งเสริมสิทธิของทั้งหญิงและชาย รวมไปถึงกลุ่มเพศที่หลากหลาย นับได้ว่าเป็นประเทศหนึ่งที่มีการตื่นตัวในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ถึงแม้ว่าวัฒนธรรมของไทยที่มีมาแต่ช้านานนั้น มักจะยกสิทธิต่างๆ ให้ผู้เป็นชายมีมากกว่าผู้เป็นหญิง แต่ประเทศไทยเราก็ได้มีการรณรงณ์ส่งเสริมสิทธิสตรี และกลุ่มเพศหลากหลายกันมากอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประเทศไทยก็พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ต่างๆเพื่อก้าวเข้าสู่แนวทางแห่งความเท่าเทียมกันอย่างเหมาะสมและเป็นตัวของตัวเอง ปัจจุบันไทยไม่ได้ปิดกั้นสิทธิของสตรีและของกลุ่มเพศที่หลากหลาย อย่างที่เคยเป็นมาตั้งแต่ยุคอดีตอีกต่อไปแล้ว ผู้หญิงและกลุ่มเพศหลากหลาย เริ่มได้รับสิทธิต่างๆมากขึ้น ซึ่งในไม่ช้าก็จะทัดเทียมกับสิทธิของผู้ชาย ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ดีในสังคมประชาธิปไตย แต่ก็คงยังมีบ้างที่อาจจะต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติของผู้ชายบางกลุ่มที่ยังคงเห็นว่าสิทธิของผู้ชายตั้งมากกว่าผู้หญิง ซึ่งจำเป็นที่จะต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน
ถึงเวลานี้เราคงต้องดูกันต่อไปว่า แนวทางของสิทธิแห่งความเท่าเทียมกัน ในประเทศไทยและในสังคมโลกจะเดินต่อไปอย่างไร สำคัญที่สุดคือการที่เด็กเรียนรู้จากผู้ใหญ่ในเรื่องต่างๆ ซึ่งถ้าผู้ใหญ่เข้าใจและให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมสิทธิที่เท่าเทียมกัน ก็จะเป็นแรงผลักดันที่ดีให้เด็กรุ่นใหม่ที่กำลังจะกลายเป็นผู้ใหญ่ในอนาคตเข้าใจและเคารพต่อสิทธิแห่งความเท่าเทียมกันในจุดนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมากต่อประชาธิปไตยในโลกปัจจุบัน...

ไม่มีความคิดเห็น: