วันศุกร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2551

บริบทสังคมไทยกับการสร้างวินัยเชิงบวก

นายนรรัชต์ ฝันเชียร


ในทุกสังคมบนโลกมนุษย์ใบเล็ก ๆ ใบนี้ ความมีวินัย ถือเป็นสิ่งที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตอย่างมากมาย ไม่ว่าคุณจะเป็นชนกลุ่มใด เชื้อชาติใด ต่างก็จำเป็นต้องมีสิ่งที่เรียกว่าวินัย ที่จะต้องสั่งสอนแก่สมาชิกทุกคนในสังคมนั้น ๆ เพื่อให้เป็นแบบแผนให้ยึดถือปฏิบัติในรูปแบบเดียวกัน ซึ่งสิ่งนี้ก็เป็นไปเพื่อการสืบสานวัฒนธรรม การดำรงวิถีชีวิตสังคม การรักษาความสงบ และความเป็นระเบียบเรียบร้อยให้กับบ้านเมือง ความมีวินัยของประชาชนจะนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองได้ไม่ยาก ประเทศใดมีประชากรที่มีวินัย จะมีประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนไปสู่ความเจริญงอกงาม ตามแบบของอาณาอารยประเทศ ซึ่งทุกประเทศต่างก็ปรารถนาให้เป็นเช่นนั้น ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย


การสร้างวินัยนั้น ในแต่ละสังคมล้วนมีการอบรมเลี้ยงดูในเรื่องนี้แก่สมาชิกแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสภาพสังคมและวิถีชีวิตที่จะนำไปสู่การสร้างวินัยในสังคมนั้น ๆ ว่าเป็นเช่นไร อย่างในสังคมไทย ถ้ากล่าวถึงการสร้างวินัยแล้ว ก็ต้องนึกถึงคำพังเพยที่ว่า “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” ซึ่งคำพังเพยนี้ ได้มีอิทธิพลอย่างมากต่อการอบรมเลี้ยงดูเด็กในประเทศไทย โดยเมื่อเด็ก ๆ ที่เป็นสมาชิกใหม่ในสังคมนั้น กระทำตนผิดแปลกจนกลายเป็นอันตรายต่อตนเอง หรือทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ผู้ใหญ่ก็จะใช้การตีพร้อมกับการอธิบายสั่งสอน เพื่อให้เด็ก ๆ จดจำได้ว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการลงโทษ ที่ต้องการให้เด็กจดจำสิ่งที่ตนทำผิดพลาดด้วยความเจ็บปวด เพื่อให้เด็กไม่แสดงพฤติกรรมเช่นนั้นอีก การกระทำเช่นนั้นล้วนเป็นสิ่งที่สืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณ และก็ยังเป็นแบบแผนที่ยึดถือกันอยู่มาจวบจนถึงยุคปัจจุบัน แต่ในบริบทของสังคมโลกที่เป็นไป ทำให้วิธีการสร้างวินัยที่มีมาตั้งแต่ยุคอดีตหลากหลายวิธี เริ่มเสื่อมคลายลง โดยการตีตราว่าเป็นการกระทำที่รุนแรงต่อเด็ก ซึ่งการใช้ “การตี” นี้ก็เฉกเช่นเดียวกัน


การเริ่มต้นของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ได้นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในโลกของเด็กและการอบรมเลี้ยงดูเด็ก จากการที่เด็กคือบุคคลที่ต้องเจริญรอยตามผู้ใหญ่ หรือต้องเชื่อฟังแต่คำสั่งสอนของผู้ใหญ่เพียงอย่างเดียว อนุสัญญา ฯกลับส่งเสริมในทางตรงข้ามคือ การปล่อยให้เด็กเป็นอิสระจากกรอบที่ผู้ใหญ่ต้องการให้เป็น และเปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงความคิดเห็นมากขึ้น รวมไปถึงการป้องกันการล่วงละเมิดเด็กทั้งทางร่างกายและจิตใจ


เราปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจุบันนี้มีเด็กถูกละเมิดสิทธิมากขึ้นในหลาย ๆ ประเทศ โดยเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย ซึ่งก็ด้วยเพราะผู้ใหญ่หลายท่านที่ไม่เข้าใจ ไม่สนใจ หรือไม่ตระหนัก ในเรื่องของเด็กที่ควรจะได้รับการเลี้ยงดู การพัฒนา การส่งเสริม และการให้สิทธิอันพึงประสงค์อย่างเหมาะสม ทั้ง ๆ ที่มันคือหน้าที่ควรทำ บางท่านก็มักมองเด็กว่าเป็นแค่เด็กน้อยผู้ไม่ประสีประสาโลก และอีกหลายท่านก็มองว่าเด็กต้องเป็นบุคคลที่เจริญรอยตามตน ผู้ใหญ่เหล่านี้ขาดการเคารพสิทธิของเด็ก และเมื่อเด็กพยายามที่จะก้าวหน้า หรือก้าวล้ำจากสิ่งที่ตนคาดคิดไว้ ก็พาลกล่าวหาเด็กว่าการกระทำของเด็กนั้นไม่ถูกต้อง และที่น่าตกใจก็คือ บุคคลเหล่านี้มักเข้าไปอยู่ในวงการการศึกษา ซึ่งเป็นส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนมากที่สุด จึงไม่แปลกใจเลย ที่ “การตี” กลายมาเป็นวัฒนธรรมของสถานศึกษา และเป็นสิ่งที่คุณครูยึดถือปฏิบัติ ด้วยเพราะเป็นวิธีการที่ช่วยให้ครูควบคุมชั้นเรียนได้อย่างดีที่สุด แต่สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วหรือ
วัฒนธรรม หลายเรื่องที่เป็นสิ่งที่ดี ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องรักษาดำรงไว้เพื่อคนรุ่นหลัง แต่วัฒนธรรมบางวัฒนธรรมก็ควรที่จะเลือนหายไปตามกาลเวลา ซึ่ง “การตี” ก็ควรเป็นวัฒนธรรมหนึ่งที่ควรที่จะเลือนหายไป ในปัจจุบันนี้ประเทศไทยเริ่มให้ความสำคัญกับการอบรมสั่งสอนและเลี้ยงดูเด็กอย่างสร้างสรรค์มากขึ้น ถึงแม้ “การตี” จะยังคงมีอยู่บ้างตามโรงเรียน หรือในครอบครัวบางครอบครัว แต่การกระทำเหล่านี้ก็มีแนวโน้มจะลดลงอย่างมาก หลังจากที่มีพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ และพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก แต่เมื่อ “การตี” ถูกทำให้กลายเป็นอดีตไปแล้ว ก็ต้องมาตั้งคำถามกันอีกว่า แล้วเราจะใช้วิธีการใดในการอบรมสั่งสอนและเลี้ยงดูเด็กอย่างเหมาะสม


ดร.โจน อี. เดอร์แรนท์ นักจิตวิทยาคลินิกเด็ก และผู้ช่วยศาสตราจารย์สาขาสังคมวิทยาด้านครอบครัว มหาวิทยาลัยมานิโทบา รัฐวินนิเพ็ก ประเทศแคนาดา ได้นำเสนอแนวคิดการเลี้ยงดูเด็กในหนังสือPositive Discipline: What it is and how to do it ซึ่งได้มีการแปลเป็นภาษาไทยในชื่อ การสร้างวินัยเชิงบวก : การสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและวิธีนำไปใช้ โดย ดร.สมบัติ ตาปัญญา นักจิตวิทยาคลินิก และผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชา จิตเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งสามารถเรียกได้ว่าเป็น แนวคิดของการสร้างวินัยเชิงบวก อันเป็นแนวคิดที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน ดร.โจน อี. เดอร์แรนท์ กล่าวไว้ในบทสัมภาษณ์ ที่ได้แสดงออกมาภายในงานเปิดตัวหนังสือดังกล่าว ในรูปแบบภาษาไทย ณ โรงแรมอมารี วอเตอร์เกทส์ ซึ่งจัดขึ้นโดย Save the Children Sweden ว่า ปัจจุบันนี้จำนวนของพ่อแม่ผู้ปกครองที่ได้รับคำแนะนำให้เลี้ยงดูลูกหลานโดยใช้การอบรมเชิงบวกเพิ่มมากขึ้น แต่พวกเขาก็มีคำถามว่า “อะไรคือการอบรมเชิงบวก และเราจะสามารถปฏิบัติในเรื่องนี้ได้อย่างไร”ความหมายของการสร้างวินัยเชิงบวกนั้น ในความเห็นของ ดร.โจน แสดงให้รู้ว่า สิ่งนั้นคือแนวทางในการสั่งสอนและอบรมเลี้ยงดู อันจะช่วยให้เด็กประสบความสำเร็จด้วยการให้ข้อมูลความรู้แก่เด็ก และสนับสนุนการเติบโตของพวกเขา ซึ่งมีหลักปฏิบัติอยู่ 4 ประการด้วยกัน คือ

การหาเป้าหมายการเลี้ยงดูในระยะยาว

ให้ความอบอุ่น (ความรักและความปลอดภัย)

เข้าใจในความคิดและความรู้สึกของเด็ก

การแก้ปัญหา

จากกระบวนการสร้างวินัยรูปแบบนี้ ทำให้เราสามารถเห็นจุดเด่นของการสร้างวินัยเชิงบวก ซึ่งนับเป็นผลดีที่ดูแตกต่างกว่าวิธีการอบรมเลี้ยงดูรูปแบบอื่น ๆ จุดเด่นของการสร้างวินัยเชิงบวกนั้น ได้แก่

1. ไม่ใช้ความรุนแรง และให้เกียรติเด็กในฐานะผู้เรียนรู้

2. รู้จักการค้นหาทางแก้ปัญหาระยะยาวอันเป็นแนวทางในการพัฒนาวินัยในตนเองของเด็ก

3. ได้สื่อสารกันอย่างชัดเจน ในเรื่องของความคาดหวัง กฎ และข้อจำกัดที่พ่อแม่วางไว้ให้เด็ก

4. สร้างความสัมพันธ์ และเคารพซึ่งกันและกัน ระหว่างพ่อแม่และเด็ก

5. เป็นการสอนทักษะที่ยั่งยืนแก่เด็ก

6. เพิ่มพูนความสามารถและความมั่นใจในการรับมือกับสถานการณ์ที่ท้าทายให้แก่เด็ก

7. เป็นรูปแบบสำหรับสอนมารยาท ความรักสงบ ความเห็นอกเห็นใจ การนับถือตนเอง สิทธิมนุษยชน และการเคารพต่อผู้อื่น

จะเห็นได้ว่า แนวคิดของการสร้างวินัยเชิงบวกนั้น นับว่าจะเป็นแนวคิดที่สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กอย่างแท้จริง เพราะเป็นแนวคิดที่ส่งเสริมให้ทั้งผู้ใหญ่และเด็กได้มีโอกาสพูดคุยร่วมกัน และส่งผลต่อการยอมรับสิทธิซึ่งกันและกัน วิธีนี้จะช่วยลดการกระทำความรุนแรงต่อเด็กลงได้ เพราะทั้งเด็กและผู้ใหญ่มีความเข้าใจกันมากขึ้น


ดร.โจน ได้แสดงตัวอย่างการใช้วิธีการสร้างวินัยเชิงบวกกับลูกชายของเธอ ตอนนั้นมีอายุเพียงสามขวบ ไม่ให้โยนแปรงสีฟันลงในชักโครก ซึ่งเธอก็เห็นว่ามันได้ผลที่ดีกว่า การดุด่า การตี หรือการทำท่าทางด้วยวิธีการต่างๆ แล้วยังช่วยให้เด็กน้อยเข้าใจด้วยว่า เพราะเหตุใดจึงไม่ควรทำเช่นนั้น เป็นการรับรู้เหตุผลมากกว่าการลงโทษที่ส่วนใหญ่เด็กไม่รู้เหตุผลว่า ทำไมเขาจึงทำเช่นนั้นไม่ได้


แต่อย่างไรก็ตาม ตัวอย่างที่ ดร.โจน ยกมานั้น แสดงให้เห็นถึงการใช้วิธีการสร้างวินัยเชิงบวกในบริบทของสังคมอเมริกาและยุโรป แล้วถ้าการเลี้ยงดูในบริบทของสังคมเอเชีย หรือในสังคมไทยล่ะ มันจะได้ผลเช่นเดียวกันหรือไม่


ในเรื่องนี้ ดร.โจน ได้แสดงให้เห็นถึงผลการศึกษาที่ค้นพบว่า หลังจากที่ได้ใช้หนังสือนี้เป็นคู่มือนำร่องในเอเชีย โดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญก็พบว่า มีแนวโน้มที่จะสามารถนำหลักการพื้นฐานไปประยุกต์ใช้ได้กับทุกประเทศในภูมิภาค แต่ทั้งนี้ก็มีบางกรณีที่ต้องขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศด้วย เช่น วินัยในการนอน ที่ชาวอเมริกาและยุโรปจะแยกห้องนอนระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ แต่ในเอเชียพบว่า เด็กกับผู้ใหญ่ส่วนมากจะนอนในห้องนอนเดียวกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็จะเป็นการแสดงให้เห็นว่า เรื่องใดจำเป็นหรือไม่จำเป็นในการสร้างวินัยเชิงบวกในประเทศนั้น ๆ


สำหรับประเทศไทย การสร้างวินัยเชิงบวกนั้นอาจเป็นทางออกที่ดีในการพัฒนาการเลี้ยงดูและอบรมสั่งสอนเด็กยุคใหม่ แทนการใช้วิธีการดุด่า หรือการตี เฉกเช่นที่เป็นมาตั้งแต่สมัยก่อน ๆ แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่า ให้ทำการเปลี่ยนแปลงแบบทันทีทันใด ชนิดที่เรียกว่า “ปฏิวัติ” เพราะการนำมาใช้ที่ดีนั้นจำเป็นที่จะต้องมีการประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม ซึ่งการที่เราจะสามารถประยุกต์ใช้ได้ ก็ควรที่จะต้องวางแผนและเริ่มต้นปรับเปลี่ยนทีละน้อย และควรที่จะแผ่ขยายจากการใช้ภายในครอบครัวไปสู่การใช้ในระบบการศึกษาด้วย


และต่อไปนี้ ในช่วงที่การสร้างวินัยเชิงบวกกำลังเติบโตในประเทศไทย ควรที่จะให้ “การตี” กลายเป็นเครื่องปราม มากกว่าที่จะเป็นเครื่องมือในการอบรมสั่งสอนและเลี้ยงดูเด็ก ซึ่งเมื่อไหร่ที่เราสามารถประยุกต์ใช้การสร้างวินัยเชิงบวกได้เหมาะสมแล้ว เมื่อนั้น คำพังเพยที่ว่า “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” ก็จะกลายเป็นเพียงคำพูดติดตลก ที่เป็นส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์บ้านเราเท่านั้นเอง ... มันก็เป็นเรื่องที่ดีไม่ใช่หรือ ?

ปล. ผู้ใดสนใจหนังสือ การสร้างวินัยเชิงบวก : การสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและวิธีนำไปใช้ ติดต่อขอได้จาก องค์การช่วยเหลือเด็กแห่งสวีเดน สำนักงานภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ชั้น 14 มณียาเซ็นเตอร์ ตึกด้านทิศใต้518/5 ถนนเพลินจิต กรุงเทพฯ 10330 โทรศัพท์ 0-2684-1046-7 โทรสาร 0-2684-1048
E-mail :
scs@seap.savethechildren.seWebsite : http://seap.savethechildren.se

วันพฤหัสบดีที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2551

เด็กปัญญาเลิศ ทรัพยากรมนุษย์ที่ต้องค้นหาและดูแลเฉพาะ


นายนรรัชต์ ฝันเชียร


ตั้งแต่ที่นักจิตวิทยา ได้เริ่มตั้งคำถามมากมายเกี่ยวกับความฉลาดทางสติปัญญาของมนุษย์ว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาได้อย่างไร มีอิทธิพลจากอะไร และทำไมต่างคนถึงต่างมีระดับของความฉลาดทางสติปัญญาที่แตกต่างกัน สิ่งเหล่านี้นำมาซึ่งความกระหายใคร่รู้ของกลุ่มนักจิตวิทยาหลายกลุ่มที่สนใจ พวกเขาได้สร้างแบบวัดและประเมินผลความสามารถทางสติปัญญาของมนุษย์ขึ้นมาอย่างหลากหลายมากมาย ซึ่งก็มีอยู่หลายรูปแบบด้วยกันที่นำมาใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน และแม้จะเป็นในยุคปัจจุบันเอง ความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์ในเรื่องของความฉลาดของมนุษย์นั้นก็ไม่มีทีท่าว่าจะลดลงเลย
สมัยก่อนที่จะเริ่มมีการวัดสติปัญญากันอย่างจริงจังนัก เราอาจแยกคนปกติกับกลุ่มคนที่เข้าข่ายปัญญาอ่อนได้ จากการสังเกตซึ่งจะเห็นได้เด่นชัด แต่สำหรับการแยกคนที่มีปัญญาเลิศออกจากคนปกตินั้น กลับเป็นสิ่งที่ยากกว่า และก็มีคนปัญญาเลิศหลายคนที่ถูกระบุว่าเป็นบุคคลไร้ความสามารถ จากความเห็นที่ไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะในวัยเด็ก ซึ่งโรงเรียนถือเป็นแหล่งการเรียนรู้ที่สำคัญ โดยตามปกตินั้น โรงเรียนก็จะวัดศักยภาพผู้เรียนผ่านการเรียนรู้ ซึ่งบางครั้งเด็กปัญญาเลิศ ก็ไม่ค่อยสนใจที่จะทำตามแผนแบบที่ชวนน่าเบื่อหน่ายนั้นนัก จึงมักที่จะโดนกล่าวว่าเป็นเด็กที่เรียกว่า “เด็กเหลือขอ” อยู่เป็นประจำ แม้กระทั่ง ไอน์สไตน์ นักวิทยาศาสตร์ที่ถือได้ว่าเป็นคนที่มีปัญญาเลิศท่านหนึ่งตอนเด็กเรียนตกวิชาประวัติศาสตร์เพราะไม่สนใจที่จะทำตามคุณครู และมักจะโดนทำโทษเสมอ จากการถามปัญหาแปลกๆกับคุณครูอย่างเช่น “ทำไมมนุษย์บินไม่ได้ ทำไมนกบินได้” ซึ่งคุณครูก็มองว่ามันเป็นเรื่องที่น่ารำคาญ
แต่เมื่อเริ่มมีแบบวัดและประเมินผลความฉลาดทางสติปัญญาขึ้น กลุ่มคนปัญญาเลิศที่เคยถูกมองข้ามก็กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง แบบวัดนี้ช่วยจำแนกระดับของคนที่มีปัญญาเลิศและคนปกติ รวมไปถึงการคัดแยกกลุ่มคนบางกลุ่มที่มีปัญหาด้านสติปัญญาแต่ไม่ได้แสดงออกให้เห็นเด่นชัดได้ ซึ่งใครที่วัดระบบมาตรฐานแล้ว อยู่ในระดับที่เหนือขึ้นไปกว่าความฉลาดแบบปกติ ก็จะถึงว่า “เป็นผู้ที่มีปัญญาเลิศ”
ผู้ที่มีปัญญาเลิศ คือกลุ่มของคนที่ได้ผลลัพธ์จากแบบวัดสูงกว่าคนปกติในเกณฑ์ปกติ ซึ่งสิ่งนี้นับว่าเป็นพรสวรรค์ของแต่ละคนที่อาจจะมีไม่เท่ากัน เพราะจะขึ้นอยู่กับพันธุกรรมเป็นหลัก ความที่เป็นคนปัญญาเลิศนั้น ทำให้การทำงานของสมองจะคล่องตัวมากกว่าคนปกติ มีความเฉลียวฉลาดทำให้สามารถเข้าใจเรื่องราวและใช้ความคิดในเรื่องต่างๆได้อย่างรวดเร็ว และสามารถจัดสรรงานต่างได้อย่างดีและมีประสิทธิภาพ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า คนที่มีปัญญาเลิศ ทุกคนจะประสบความสำเร็จ มีไม่น้อยเช่นกันที่ชีวิตต้องล้มเหลว ซึ่งหลายครั้งก็เป็นเพราะผู้คนรอบข้างไม่มีความเข้าใจในความเป็นปัญญาเลิศ และไม่รู้จะส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาที่เหมาะสมได้อย่างไร ซึ่งเพื่อไม่ให้เกิดเหตุเช่นนี้ขึ้น ผู้มีปัญญาเลิศจึงควรที่จะได้รับการส่งเสริมและพัฒนาอย่างเหมาะสมตั้งแต่เริ่มแรก นั้นก็คือ ตั้งแต่ที่ยังเป็นเด็ก
สำหรับเด็กนั้น คำที่ใช้เรียกเด็กปัญญาเลิศ มีหลายคำ เช่น คำว่า เด็กอัจฉริยะ เด็กปรีชาญาณ เด็กเก่ง เป็นต้น ส่วนคำภาษาอังกฤษที่ใช้ในวงการนี้ก็มีอยู่หลายคำเช่นกัน อันได้แก่
Gifted หมายถึง ผู้ที่มีความฉลาดเฉลียวหรือผู้มีปัญญาเลิศ
Talented หมายถึง ผู้ที่มีความสามารถเฉพาะทาง เช่น ด้านดนตรี ศิลปะ กีฬา
Genius หมายถึง ผู้ที่ระดับสติปัญญาสูง มีผลงานการประดิษฐ์คิดค้นทางวิทยาศาสตร์มาก
เด็กปัญญาเลิศนั้น อาจจะเป็นเรื่องที่บอกแบบชี้ชัดโดยไม่ผ่านการวินิจฉัยไม่ได้ แต่กลุ่มเด็กที่เข้าข่ายมีสติปัญญาดีก็อาจเป็นเรื่องที่พอสังเกตได้ไม่ยากนัก ส่วนใหญ่เด็กที่มีสติปัญญาดีมักที่จะไม่ค่อยอยู่นิ่ง มีความสนใจในสิ่งนู้นสิ่งนี้ตลอดเวลา ชอบการสร้างสรรค์ผลงานด้วยจินตนาการและความคิดของตัวเอง บางครั้งก็มักจะเล่นของเล่นต่างจากวิธีการเล่นของเล่นนั้นตามปกติ ผลงานที่เด็กกลุ่มนี้ทำจะออกมาอย่างสร้างสรรค์และมีเป้าหมายที่ต้องสื่อชัดเจน เขาอาจไม่ค่อยจะสนใจการเรียนการสอนที่ที่เป็นการหมุนเวียนแบบเดิมๆ และก็มักที่จะเลือกทำเฉพาะเรื่องที่ตัวเองชอบ ซึ่งถ้าผู้สอนไม่เข้าใจ ก็อาจจะตัดสินใจเด็กไปว่าเป็นเด็กขี้เกียจและมีปัญหาด้านการเรียนรู้ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง
แต่อย่างไรก็ดี ปัจจุบันนี้มีหลายหน่วยงานที่ได้ส่งเสริมให้มีการนำเด็กมาทำการทดสอบ เพื่อค้นหาเด็กปัญญาเลิศ โดยเฉพาะเด็กในระดับปฐมวัย เหตุผลก็เพื่อค้นหาและเมื่อพบก็สามารถส่งเสริมให้เขาได้รับการพัฒนาอย่างถูกต้องและเหมาะสมได้ตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งหน่วยงานเหล่านี้มีความเชื่อมั่นว่า ถ้าเด็กปัญญาเลิศได้รับการดูแลที่ดีอย่างเหมาะสมตั้งแต่แรกแล้ว ก็จะทำให้เขาเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีค่ามากของประเทศต่อไปในอนาคตได้
นอกจากนี้ ผศ.ดร.อุษณีย์ อนุรุทธ์วงศ์ ผอ.ศูนย์ส่งเสริมเด็กที่มีความสามารถพิเศษ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ(มศว) หนึ่งในหน่วยงานที่ได้ให้การส่งเสริมเด็กปัญญาเลิศ ก็ยังกล่าวถึงจุดมุ่งหมายที่ต้องการจะผลักดันให้รัฐได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องของการพัฒนาเด็กปัญญาเลิศนี้อย่างจริงจัง และยกระดับการพัฒนาเด็กปัญญาเลิศในระดับโรงเรียนอย่างเหมาะสม โดยการให้ความรู้ พัฒนาครู และสนับสนุนในเรื่องของสื่อการเรียนรู้ต่างๆที่จำเป็น ซึ่งทางรัฐบาลเองก็ได้มีการพูดถึงหลักสูตรเฉพาะที่จะสร้างขึ้นเพื่อการพัฒนาเด็กปัญญาเลิศนี้ด้วยเช่นเดียวกัน นับว่าเป็นเรื่องที่ดีถ้าเป็นจริงเช่นนั้น
เราคงต้องมาดูกันต้องไปว่า ชะตากรรมของเด็กที่ถูกเรียกว่า “ปัญญาเลิศ” หรือ “อัจฉริยะ” นั้น จะเป็นเช่นไรต่อไป ท่ามกลางกระแสสังคมที่กำลังหมุนวนอย่างเอาแน่เอานอนไม่ได้นี้ ซึ่งกระผมก็หวังว่ามันจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดทุกคน
“ใครที่มีลูกหลาน ก็ลองพาไปตรวจวินิจฉัยดูก็ดีนะครับ ไม่แน่ว่าลูกเหลนคุรอาจจะเป็นอัจฉริยะที่สามารถพลิกโลก แบบ ไอน์สไตน์ ก็ได้ ใครจะไปรู้ จริงไหมครับ”

ข้อมูลอ้างอิง
http://www.komchadluek.net/2008/01/31/x_edu_e001_187913.php?news_id=187913
http://www.giftedcenter.org/evos/front/bin/ptlist.phtml?Category=100509
http://www.rmu.ac.th/~specedu/mean2_10.html

วันพุธที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2551

โรคสมาธิสั้น เรื่องสำคัญที่ควรนึกถึง

นายนรรัชต์ ฝันเชียร

สวัสดีครับคุณพ่อคุณแม่ทั้งหลาย ใครกำลังมีน้องตัวเล็กๆอยู่บ้างครับ ในวัยเด็กคุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจจะต้องเหนื่อยหน่อยนะครับ เพราะขึ้นชื่อว่าเด็กแล้ว ความซุกซนเป็นสิ่งที่มีในเด็กทุกคนอย่างเลี่ยงกันไม่ได้ ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้กับหลายครอบครัวกันเลยทีเดียว ยิ่งถ้าต้องเลี้ยงเด็กผู้ชายด้วย ก็ยิ่งเหนื่อยกว่าเลี้ยงเด็กผู้หญิงหลายเท่า จริงไหมครับ
ความซนของเด็กนั้นเป็นธรรมชาติของพัฒนาการ เคยมีคำกล่าวว่า เด็กซนคือเด็กฉลาด ซึ่งคำกล่าวนี้ก็เป็นสิ่งที่น่ายอมรับครับ แต่จะเป็นเช่นนี้ ทั้งหมดหรือไม่ ก็ต้องมาดูเรื่องนี้กันก่อนครับ เพราะไม่แน่ว่าความซนของลูกคุณอาจจะไม่ใช่การซนที่มาจากความฉลาดก็ได้ครับ แต่อาจจะเป็นความซนที่มาจากโรคสมาธิสั้นก็เป็นได้

โรคสมาธิสั้นคืออะไร
โรคสมาธิสั้น (Attention Deficit/Hyperactivity Disorder (ADHD) คือ โรคทางจิตเวชที่ก่อให้เกิดการขาดความตระหนักและความสนใจจดจ่อกับสิ่งรอบตัว มีความเกี่ยวข้องกับคำว่า Focus(สมาธิ) โดยโรคนี้นั้นประกอบด้วยพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ 3 อาการ คือ สมาธิสั้น(Inattention) ซุกซนอยู่ไม่นิ่ง(Hyperactivity) และหุนหันพลันแล่น (Impulsivity) แต่ในการจะบอกว่าเด็กคนนั้นจะเป็นหรือไม่เป็นโรคสมาธิสั้นนั้นอยู่ที่ความถี่ของพฤติกรรมเหล่านี้ที่แสดงออกครับ ซึ่งเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นนั้นจากแสดงออกสูงกว่าเด็กปกติ

โอกาสของการเป็นโรคสมาธิสั้น
จากงานวิจัย(Bauermeister ,1994)ได้มีการวิจัยไว้ว่าเด็กผู้ชายจะมีสิทธิ์เป็นโรคสมาธิสั้นได้มากกว่าเด็กผู้หญิงถึงกว่า 3 – 6 เท่า โดยในประเทศไทยจากงานวิจัย(เบญจพร ปัญญายง ,2541) ได้มีการประเมินกลุ่มตัวอย่างเด็กชั้น ป. 4 ในกรุงเทพมหานคร พบว่ามีเด็กถึงกว่าร้อยละ 5.09 เป็นโรคสมาธิสั้นนี้

โรคสมาธิสั้น เกิดจากสาเหตุใด
โรคสมาธิสั้นเกิดขึ้นจากการที่สมองทำงานไม่สมบูรณ์ครับ คือสมองมีการหลั่งสารต่างๆอย่างผิดปกติ ทำให้ไม่เกิดความสมดุล ซึ่งโรคทางจิตเวชส่วนใหญ่ก็จะเกิดจากสาเหตุนี้ครับ ซึ่งสาเหตุของโรคสมาธิสั้นนี้ มีด้วยกัน 3 ทางครับ ได้แก่


1. จากพันธุกรรม
โรคสมาธิสั้นนี้สามารถถ่ายทอดกันในระดับยีนส์ครับ เช่นจากจากมารดาสู่บุตร หรือจากการที่แฝดคนใดคนหนึ่งถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมาธิสั้น แฝดคนอื่นก็มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคสมาธิสั้นด้วย นอกจากนี้พี่น้องร่วมสายเลือดกันก็มีสิทธิที่จะเป็นสมาธิสั้นได้เช่นเดียวกัน
2. การกระทบกระเทือนทางสมอง
นอกจากพันธุกรรมจะมีอิทธิพลต่อการเกิดโรคสมาธิสั้นแล้ว อุบัติเหตุที่ทำให้สมองเกิดการกระทบกระเทือนก็มีผลต่อการเป็นโรคสมาธิสั้นด้วยเช่นกัน

3. สภาพแวดล้อมการเลี้ยงดู
การเลี้ยงดูอย่างขาดการเอาใจใส่หรือการให้ความเอาใจใส่มากจนกลายเป็นการตามใจ สิ่งเหล่านี้คือมูลเหตุที่ก่อให้เกิดโรคสมาธิสั้นได้ครับ

อาการของเด็กที่เป็นสมาธิสั้น
อาการของเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นนั้น จะดูคล้ายคลึงกับเด็กปกติในวัยเดียวกัน ที่ปรากฏอยู่ในชีวิตประจำวัน โดยอาการหลายนี้จะเป็นไปตามเกณฑ์การวินิจฉัยของ DSM-IV-TR criteria
1. ช่างพูด พูดขัด ชอบตอบคำถามก่อนฟังคำถามจบ
2. นั่งไม่ติดที่ ยุกยิก ชอบวิ่ง ปีนป่าย เคลื่อนไหวตลอดเวลา
3. มักเล่นหรือทำกิจกรรมเงียบๆไม่ได้
4. ไม่รอคิว ชอบขัดจังหวะ ชอบแทรก
5. ขาดสมาธิ ไม่มีสมาธิต่อเนื่อง
6. เลี่ยงงานที่ต้องคิดหรือใช้ความพยายาม
7. ลืมกิจวัตรบ่อยๆ
8. วอกแวกง่าย

ซึ่งอาการที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ จะถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมาธิสั้นต่อเมื่อ อายุอยู่ในเกณฑ์ตั้งแต่ 6 ขวบปีขึ้นไป และมีพฤติกรรมเหล่านี้ในชีวิตประจำวันเป็นประจำอย่างน้อย 6 อาการ เกิน 6 เดือน โดยไม่เป็นอาการที่เกิดขึ้นตามลำดับพัฒนาการของเด็ก และต้องไปใช่อาการที่เกิดขึ้นจากการเป็นโรคจิต หรือโรคที่มีพัฒนาการผิดปกติครับ

ข้อแตกต่างระหว่างสมาธิสั้นกับอัจฉริยะ
อาการของโรคสมาธิสั้น อาจจะดูคล้ายคลึงกับเด็กอัจฉริยะ หรือ ที่เรียกว่าเด็กปัญญาเลิศ อยู่หลายส่วน ทั้ง อาการเบื่อง่าย ไม่ค่อยสนใจการเรียนการสอน และมักที่จะซุกซนมากผิดปกติ แต่ถ้าลองสังเกตดูในการทำกิจกรรมของเด็กทั้งสองประเภทจะพบว่ามีความแตกต่างกัน เวลาที่เด็กปัญญาเลิศทำกิจกรรมบางสิ่งบางอย่าง ถึง แม้จะเป็นเวลาไม่นาน แต่ก็จะทำให้เห็นถึงตัวผลงานที่ได้จากการทำนั้นชัดเจน ตรงกันข้ามกับเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นที่จะทำหลายๆอย่าง อย่างไม่เป็นชิ้นเป็นอัน จนทำให้ดูรกหูรกตาไป
ผลกระทบจากการเป็นโรคสมาธิสั้น
1. ผลการเรียนไม่ดีเท่าความสามารถจริง
2. ถูกดุ ตำหนิ และลงโทษ (พ่อแม่ ครู)
3. ไม่มีคนรัก
4. มองตัวเองไม่ดี ความภาคภูมิใจตัวเองต่ำ
5. มีปัญหาทางอารมณ์จิตใจ ปัญหาพฤติกรรม
6. ไม่สนใจการเรียน
7. คบเพื่อนไม่ดี
8. ดื้อ ต่อต้าน มีพฤติกรรม เกเร ก้าวร้าว


สิ่งใดที่อาจจะส่งผลเสียให้เด็กเกิดเป็นโรคสมาธิสั้นได้
พวกเครื่องเล่นเกมส์ต่างๆ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และโทรทัศน์ รวมไปถึง สื่อต่างๆที่เป็นการสื่อสารตั้งแต่ 2 ทางขึ้นไป สิ่งเหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดอาการสมาธิสั้นได้ทั้งสิ้น ยังมีคุณพ่อคุณแม่หลายคนยังเข้าใจผิดว่า การที่ให้เด็กสนใจอยู่กับสิ่งเหล่านี้เป็นเวลานานๆเป็นการส่งเสริมให้เด็กมีสมาธิและทักษะอื่นๆ แต่มันจะเป็นเช่นนั้นหรือ
ความจริงสื่อเหล่านั้นไม่ได้เป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดสมาธิเลย หรือแม้แต่การเสริมสร้างทักษะ ก็ไม่ได้ช่วยสร้างสรรค์ให้เกิดทักษะที่ควรจะได้มากนัก แต่เป็นเพีบงแค่สื่อกระตุ้นให้เกิดความสนใจ อันจะนำไปซึ่งความต้องการไม่รู้จบ ที่เราเรียกกันว่า “การเสพ” เหมือนอย่างเช่นการเสพยาเสพติด


แนวการช่วยเหลือ
นอกจากการใช้ยา ซึ่งต้องเป็นไปตามคำสั่งของกุมารแพทย์ การปรับพฤติกรรมก็เป็นสิ่งที่สามารถจะกระทำได้ เพื่อลดพฤติกรรมต่างๆที่ไม่พึงประสงค์ลง ซึ่งจำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมมือของทุกฝ่าย โดยเฉพาะตัวคุณพ่อคุณแม่ เองและ คุณครูที่สั่งสอนด้วย
1. ต้องยอมรับความเป็นจริงเสียก่อนว่าเด็กกำลังเป็นโรคสมาธิสั้น ซึ่งถ้าได้รับการช่วยเหลืออย่างเหมาะสมและถูกวิธีก็สามารถหายได้
2. ให้การสื่อสารอย่างถูกวิธี โดยให้คำสั่งทีละอย่าง หรือใช้การจดบันทึกช่วยในการจำ
3. ปรับสิ่งแวดล้อม ลดสิ่งที่ล่อตาล่อใจลง ให้ห้องที่เด็กอยู่มาความว่าง สะอาด ไม่รก ส่วนที่โรงเรียนก็ควรให้เด็กนั่งใกล้กับครูผู้สอน และอยู่ห่างจากหน้าต่าง
4. สร้างสมาธิ โดยการเตือนบ่อยๆ อย่างอ่อนโยน และให้แรงเสริมซึ่งเป็นทั้งคำชมเชยหรือของรางวัลเมื่อเด็กมีสมาธิเพิ่มขึ้นจนสังเกตถึงการพัฒนาได้ และบางครั้งในห้องเรียนอาจมีการให้เปลี่ยนกิริยาบทและทยอยให้งานทีละน้อย เพื่อคงความมีสมาธิไว้
5. ในการเรียนการสอนอาจจะต้องมีแผนการเรียนเฉพาะสำหรับเด็กที่มีปัญหาด้านทักษะอื่นๆ และควรให้ความยืดหยุ่นในการเรียนการสอน และพร้อมจะให้มีการสอนตัวต่อตัวในบางครั้ง
ความจริงนะครับ โรคสมาธิสั้นนี้ก็ไม่ใช่โรคใหม่แต่อย่างใด เพียงแต่เป็นโรคที่ยังคงมีการศึกษาอย่างจริงจัง ค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะในประเทศไทย ยังคงให้ความสนใจกันอยู่วงแคบ ซึ่งทำให้ขาดการตระหนักถึงปัญหา และยิ่งปัจจุบันนี้เด็กเป็นโรคสมาธิสั้นที่ไม่ได้เป็นเพราะพันธุกรรม ก็เริ่มมีเพิ่มมากขึ้น ด้วยเพราะการพัฒนาของสื่อเทคโนโลยีที่กระตุ้นให้เด็กสนใจ ประจวบกับนโยบายของรัฐที่ยังคงให้การสนับสนุนแต่สื่อคอมพิวเตอร์ โดยไม่คำนึงถึงผลเสียต่อเด็กในระดับยาว ซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันครับว่า โรคสมาธิสั้นนี้จะแผ่ขยายของไปได้ขนาดไหน คิดดูแล้วสงสารประเทศไทยจริงๆ ว่าไหมครับ…

อ้างอิงข้อมูลจาก
การบรรยายพิเศษ เรื่อง โรคซน – สมาธิสั้นในเด็ก
โดย อาจารย์ นายแพทย์ชาตรี วิฑูรชาติ
กุมารแพทย์ และจิตเวชเด็กและเยาวชน โรงพยาบาลศิริราช
วันที่ 26 ก.พ. 51 ณ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว

วันอังคารที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2551

โรคซึมเศร้าในเด็ก สัญญาณอันตรายของชีวิต


ผู้เขียน : นายนรรัชต์ ฝันเชียร

คุณคงพบเจอเด็กแบบนี้บ้างหรือไม่ เด็กที่มักจะป่วยตอนจะไปโรงเรียน เด็กไม่ค่อยพูดจากับใครแม้กับคนในครอบครัว หรือ เด็กที่ติดพ่อแม่มากๆจนไม่ยอมที่จะห่างออกไปไหน ระวังให้ดีนะครับ นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนอันเป็นเหตุมาจากโรคซึมเศร้าก็เป็นไป
โรคซึมเศร้านั้น มีชื่อทางวิชาการว่า major depressive disorder นับเป็นโรคที่สำคัญทางจิตเวชชนิดหนึ่ง ที่เกิดผลทั้งทางร่างกาย อารมณ์ สังคมและสติปัญญา ทำให้มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน และส่งผลเสียต่อการประสานความคิดและการตัดสินใจที่เหมาะสม ซึ่งในสมัยก่อน โรคซึมเศร้าไม่ได้ระบุไว้ว่าเป็นโรค เพราะเนื่องจากว่าอาการของโรคซึมเศร้านั้น เป็นสิ่งที่แสดงออกมาตามปกติของจิตมนุษย์ที่เกิดอารมณ์ซึมเศร้า เป็นอารมณ์ที่มาจากความกดดัน ผิดหวัง หรือความที่ไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง ทำให้บุคคลเครียด มองโลกในแง่ร้าย และดำเนินชีวิตแตกต่างไปจากเดิม แต่ปัจจุบันนี้ได้มีการวิจัยและพบว่าโรคซึมเศร้านั้นเป็นโรคที่ทวีความรุนแรงมากกว่าอาการซึมเศร้าธรรมดา ซึ่งมีผลให้ผู้ป่วยมีทัศนคติต่อชีวิตทางลบ จนถึงขั้นฆ่าตัวตาย ที่กำลังเป็นปัญหาต่อวิถีชีวิตของคนในปัจจุบันนี้
โรคซึมเศร้านั้น เพศหญิงจะมีสิทธิ์เป็นมากกว่าเพศชาย แต่ก็ใช่ว่าเพศชายจะไม่มีสิทธิ์เป็นโรคนี้ เพราะอย่าลืมว่า โรคซึมเศร้าเป็นโรคทางความรู้สึก ทัศนคติ ซึ่งใครก็สามารถเป็นโรคนี้ได้
อาการของโรคซึมเศร้า กล่าวโดยทั่วไปก็จะคล้ายกับอาการของคนซึมเศร้าทั่วไป แต่ลักษณะอาการจะหลากหลายกว่า ไม่ว่าจะเป็น เศร้าซึม ร้องไห้ โกรธ หงุดหงิด กระวนกระวายอยู่ไม่สุข หรืออาจจะแสดงออกมากกว่าความเป็นจริง เช่น พูดมาก หรือไม่ก็ร่าเริงเกินไป ผู้ป่วยมักนอนไม่หลับ บางรายก็อาจจะหลับลึกเกินกว่าปกติ อ่อนเพลีย คิดมาก ไม่มีสมาธิ และความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นต่ำ ส่วนทางด้านความคิดของผู้ป่วยก็จะมีทัศนคติต่อชีวิตในทางลบ รู้สึกผิด รู้สึกไร้ค่า จนถึงขั้นทำร้ายตัวเองและเลยไปถึงการฆ่าตัวตายในที่สุด
เนื่องจากว่าอาการซึมเศร้าทั่วไปของมนุษย์นั้น เกิดจากสิ่งแวดล้อมที่เป็นปัญหามากระตุ้น ส่งผลให้เกิดการแปรปรวนของอารมณ์เท่านั้น แต่สำหรับโรคซึมเศร้า นอกจากจะมาจากอาการซึมเศร้าแล้ว ก็ยังมีสาเหตุอื่นอีก เช่น พันธุ์กรรม ความผิดปกติของสารเคมีในสมองโดยเฉพาะกับสารเคมีสามตัวคือ สารสีโรโทนิน นอร์เอปิเนพริม และโดปามีน และรวมไปถึงเป็นผลพวงของปัญหาจิตเวชอื่นๆ อย่างเช่นโรคเครียด โรควิตกกังวล เป็นต้น
และยิ่งในปัจจุบันนี้ปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมได้ส่งผมกระทบต่อวิถีชีวิตของบุคคลมากมายหลากหลายรูปแบบ ทำให้ปัญหาของโรคซึมเศร้านี้แผ่ขยายของไปในคนแทบทุกกลุ่มไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ ผู้ใหญ่ จนมาถึงวัยรุ่นหนุ่มสาว ทั้งๆที่ปัญหาโรคซึมเศร้านี้ควรที่จะเป็นปัญหาของกลุ่มผู้สูงอายุที่วิกลกังวลเกี่ยวกับคนรุ่นหลังและชีวิตบั่นปลาย หรือวัยทำงาน ที่เกิดจากอารมณ์ความเครียดในงานและครอบครัว
และนอกจากที่ผู้ใหญ่จะมีสิทธิ์ที่จะเป็นโรคนี้แล้ว เด็กก็มีสิทธิ์ที่จะเป็นโรคซึมเศร้าด้วยเช่นกัน โดยสำหรับโรคซึมเศร้าในเด็กนั้น ตรวจพบได้ยากกว่าผู้ใหญ่ตรงที่ว่า บางครั้งอารมณ์ซึมเศร้าอาจจะเป็นหนึ่งในพัฒนาการของเขาที่กำลังพัฒนา จึงทำให้การวินิจฉัยว่าเด็กจะเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ อาจคลาดเคลื่อนไม่ชัดเจนแน่นอน ซึ่งสาเหตุที่เกิดกับเด็กนั้น นอกจากที่เป็นผลมาจากพันธุกรรมและความผิดปกติของสมอง ก็อาจเป็นผลมาจากสภาพแวดล้อมรอบตัวของเด็ก บางคนถูกเพื่อนแกล้งหรือไม่ก็ได้รับผลกระทบจากการสอนของครูที่ขาดจิตวิทยาและทักษะที่เหมาะสมที่โรงเรียน จนไม่อยากมาโรงเรียน ซึ่งบางครั้งจะพบว่าเด็กจะมีอาการป่วย เมื่อถึงเวลาไปโรงเรียนเป็นต้น เด็กบางครั้งต้องได้รับผลกระทบจากครอบครัวที่ไม่อบอุ่นหรือเป็นครอบครัวที่เข้มงวดเกินไปก็จะทำให้เด็กมีอาการเครียด เก็บกด จนถึงขณะฆ่าตัวตาย อย่างที่เห็นเป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ ที่วัยรุ่นประชดครอบครัวด้วยการฆ่าตัวตาย ซึ่งปัญหาเหล่านี้ นับได้ว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องได้รับการเยียวยาเป็นอย่างยิ่ง เพราะในวัยเด็กนั้น นับว่าเป็นวัยแห่งการพัฒนาในทุกๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นบุคลิกภาพ สภาพจิตใจและลักษณะนิสัย ก็ล้วนแล้วแต่เริ่มต้นการพัฒนาในวัยเด็กนี้แทบทั้งสิ้น ซึ่งถ้าเด็กเกิดเป็นโรคซึมเศร้าแล้ว ก็จะส่งผลให้การพัฒนาของเด็กเกิดการบกพร่องไม่สมบูรณ์ อันจะเป็นผลเสียตามมาเมื่อเด็กโตขึ้น และยิ่งถ้าโรคนี้ไม่ได้รับการแก้ไขนั้น ก็จะส่งผลให้อาการของโรคทวีความรุนแรงขึ้นตามช่วงอายุแต่ละวัย ส่งผลให้บุคคลนั้นไม่สามารถดำเนินชีวิตในสังคมอย่างเป็นสุขได้
การแก้ไขปัญหาของโรคซึมเศร้านี้ ทั้งพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูบาอาจารย์ รวมไปถึงเพื่อฝูงและบุคคลที่เกี่ยวข้อง ควรที่จะสอดส่องดูแลเด็กในปกครองว่ามีพฤติกรรมที่แตกต่างไปจากเดิมในระดับที่ผิดปกติบ้างหรือไม่ ซึ่งถ้ามีการตรวจพบก็คงที่จะช่วยกันหาวิธีแก้ไข เพื่อลดและรักษาอาการของโรคซึมเศร้านั้น และเพื่อความมั่นใจก็ควรที่จะต้องไปหากุมารแพทย์เพื่อตรวจสอบหาทางวินิจฉัยอย่างเหมาะสมต่อไป
โดยในการรักษาโรคซึมเศร้านั้นตามปกติจะดูตามอาการและความรุนแรงของโรค เช่นถ้าเป็นชนิดรุนแรง ก็จะใช้การช็อตไฟฟ้า Electroconvulsive therapy (ECT) แทนการใช้ยา ในกรณีที่ว่าผู้ป่วยไม่สามารถรับประทานยาได้ หรืออาจจะใช้วิธีการให้ยากับคนที่มีอาการปานกลาง และใช้วิธีแก้ตามอาการสำหรับกลุ่มที่มีอาการเพียงเล็กน้อย
และสมมุติว่าถ้าเกิดว่าเรามีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคซึมเศร้า และโดยเฉพาะที่เป็นกับเด็ก อันดับแรกที่เราควรทำก็คือ การให้ความรักความเข้าใจ เพื่อให้เขาได้รู้สึกถึงความปลอดภัย ต่อมาก็ควรที่จะหากิจกรรมสนุกสนานให้เขาได้เข้าร่วมเพื่อผ่อนคลายความเครียดและลดอาการคิดมากของเขา พยายามให้เขาได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ และควรที่จะกำจัดและเลื่อนสาเหตุของปัญหาที่ส่งผลต่ออาการโรคซึมเศร้าของเขาออกไปจนกว่าเขาจะดีขึ้น และพยายามให้เขาได้ร่วมงานสังคมและมีโอกาสได้อยู่กับเพื่อนฝูงแทนที่จะอยู่คนเดียว พาไปวัดเพื่อนั่งสมาธิวิปัสสนากรรมฐาน เพื่อเสริมสร้างจิตใจที่ดีงามและเป็นการเติมพลังใจและกำลังใจให้กับชีวิต และที่สำคัญที่สุด ควรสร้างให้เขาได้เห็นถึงคุณค่าในตัวเอง ซึ่งมีผลที่ดีของบุคคลรอบข้างด้วย
โรคซึมเศร้า แม้ดูว่าเป็นโรคใหม่ แต่ที่จริงแล้ว โรคนี้แฝงอยู่ในคนทุกคนมาทุกยุคทุกสมัยนั้นเอง เพียงแต่เราไม่ได้ใส่ใจถึงผลกระทบของโรคเท่าที่ควร แต่ ณ เวลานี้เราควรที่จะตระหนักได้แล้วว่า โรคซึมเศร้า คือสิ่งที่กำลังกัดกินคนทุกคนที่อ่อนไหวจิตใจอ่อนแอ โดยเฉพาะกับเด็กๆที่กำลังเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ดีของชาติ โดยโรคนี้สามารถที่จะแผ่กระจายเข้าไปในความรู้สึกนึกคิดของเด็กๆในวัยที่กำลังพัฒนา จนกลายเป็นอุปนิสัยที่ติดตัวเด็กจนยากที่จะแก้ไข ดังนั้นเราจึงต้องช่วยกันสอดส่องดูแล และให้การช่วยเหลือ แก่ผู้ที่มีอัตราเสี่ยงและกำลังเป็นโรคซึมเศร้านี้ เพียงให้สังคมไทยเป็นสังคมที่น่าอยู่ รักใคร่กลมเกลียว รู้รักสามัคคี เอื้ออารีย์ต่อกัน และสิ่งสำคัญที่สุด คือปราศจากโรคซึมเศร้า ซึ่งข้าพเจ้าหวังว่าจะเป็นไปได้ในไม่ช้า

อ้างอิงข้อมูล โดย:
http://www.siamhealth.net/Disease/neuro/psy/depression/depression.htm
http://www.mahidol.ac.th/mahidol/ra/rapc/gp_dep.html


เพื่อนในจินตนาการ...การสร้างสรรค์แห่งจิตใจ


ผู้เขียน : นายนรรัชต์ ฝันเชียร

ตอนเป็นเด็กคุณเคยมีฮีโร่ในดวงใจบ้างหรือไม่ หรือเคยสมมติให้ตัวเองมีน้องหรือมีพี่บ้างไหม ลองนึกย้อนกลับไปดูว่า มันเป็นเวลานานเท่าไหร่แล้วที่คุณเคยมีจินตนาการเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ ก่อนที่ช่วงเวลา ช่วงอายุ และยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วจะทำให้คุณลืมเลือนสิ่งเหล่านั้นจนแทบจำไม่ได้
เรื่องของจินตนาการนี้ โดยเฉพาะกับจินตนาการในวัยเด็ก อาจเป็นเรื่องที่ใครๆหลายคนอาจมองว่าเป็นสิ่งที่ไร้สาระหรืออาจจะเป็นสิ่งที่เป็นปัญหา แต่การตัดสินเช่นนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ ซึ่งก่อนที่จะตัดสินว่าจินตนาการนั้นดีหรือไม่ ก็ควรที่จะเข้าใจสิ่งนี้กันก่อน
“จินตนาการในวัยเด็ก” คือสิ่งที่เด็กๆแต่ละคนมีอยู่ในจิตใจ และรวมทั้งคนในยุคต่างๆด้วย ซึ่งถ้ามองย้อนกลับไปเมื่อตอนวัยเด็ก จะพบว่าตัวเองก็มีจินตนาการเช่นนี้ด้วยเหมือนกัน สำหรับจินตนาการนั้น ในวัยเด็กต่างจากวัยผู้ใหญ่โดยสิ้นเชิง เพราะเนื่องจากว่าเด็กยังไม่เข้าใจถึงหลักของเหตุผล และหลักของความเป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้ ซึ่งทั้งสองอย่างนี้เป็นหลักสำคัญที่ผู้ใหญ่สามารถเข้าใจได้เป็นอย่างดี ทำให้จินตนาการของเด็กนั้นจึงดูเป็นสิ่งที่สุดแสนจะมหัศจรรย์และฝันเฟื่อง ซึ่งต่างกับผู้ใหญ่ที่จินตนาการส่วนใหญ่มักไปอิงกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นบนโลก
จินตนาการในวัยเด็กนั้นถือเป็นสิ่งที่ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการเด็ก เพราะนอกจากจะส่งเสริมให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์แล้ว ยังช่วยส่งเสริมความมั่นใจและพัฒนาทักษะทางด้านภาษาด้วย นอกจากนี้สำหรับเด็กที่มักจะโดนแกล้งบ่อยๆ จินตนาการก็เป็นสิ่งที่ช่วยปกป้องและลดความกดดันให้เด็กได้ ซึ่งเด็กแต่ละคนก็จะมีเรื่องราวที่เป็นจินตนาการแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับประสบการณ์รอบตัวที่เด็กแต่ละคนได้พบเจอ ซึ่งส่วนใหญ่ก็หนีไม่พ้นสิ่งที่มาจากภาพยนตร์การ์ตูน ซึ่งนับว่าเป็นสื่อที่เข้าถึงและมีอิทธิพลต่อเด็กมากที่สุด จึงไม่แปลกอะไรที่เด็กๆมักที่จะใช้จินตนาการในการแสดงออกในรูปแบบที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์การ์ตูนที่ได้ดู เช่น การแสดงเป็นพวกซูเปอร์ฮีโร่ หรือการเลียนแบบตัวการ์ตูนต่างๆ และตัวการ็ตูนเหล่านี้เองที่กลับกลายมาเป็น เพื่อนในจินตนาการของเด็ก ที่มีแต่พวกเขาเท่านั้นจะมองเห็น
การที่เด็กมีเพื่อนในจินตนาการนั้น หลายคนมองว่าเป็นพฤติกรรมที่น่าเป็นห่วงของเด็ก เพราะเป็นอาจจะเป็นการสร้างให้เด็กเกิดการปิดกั้นตัวเอง ไม่มีการปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ทำให้เด็กไม่พร้อมในการเรียนรู้ทางสังคมอีกด้วย แต่ความเป็นจริงแล้ว เป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ ซึ่งจากรายงานข่าวเรื่อง “เรื่องปกติลูกมีเพื่อนในจินตนาการ กระตุ้นการสร้างสรรค์-ความมั่นใจ” ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการออนไลน์เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2550 ที่ผ่านมาก็ได้แสดงให้เห็นถึงความเห็นที่เป็นไปในแนวทางที่ดีของบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องในเรื่องนี้มากมาย อาทิเช่น
นักวิจัยจากอินสติติวท์ ออฟ เอดูเคชันในลอนดอนพบว่า เพื่อนที่เด็กสมมติขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นซูเปอร์ฮีโร่หรือมังกรพ่นไฟ ล้วนช่วยส่งเสริมจินตนาการ รวมถึงทำให้เด็กมั่นใจและพูดจาฉะฉานยิ่งขึ้น
คาเรน เมเจอร์ส นักจิตวิทยาการศึกษาที่วิจัยเรื่องนี้ ก็ยังชี้ให้เห็นว่าเด็กที่มีจินตนาการมักสร้างเพื่อนในจินตนาการขึ้นมา ถือเป็นปรากฏการณ์ปกติที่พ่อแม่ไม่ควรเป็นห่วง ซึ่งการสร้างเพื่อนในจินตนาการขึ้นมาของเด็กนั้น ระหว่างเด็กผู้ชายกับเด็กผู้หญิงก็จะมีความแตกต่างกัน โดยเพื่อนในจินตนาการของเด็กหญิงมักจะมีอายุน้อยกว่าตัวเอง ซึ่งตรงข้ามกับเด็กชายที่ชอบเพื่อนสมมติที่อายุมากกว่าตัวเอง และมักจะเป็นตัวละครระดับซูเปอร์ฮีโร่
อีกทั้งในการศึกษายังพบว่า เด็กที่เป็นลูกคนเดียว หรืออายุห่างจากพี่น้อง รวมถึงเด็กที่กำลังจะมีน้องสาวหรือน้องชายคนใหม่ มีแนวโน้มมากที่สุดที่จะสร้างเพื่อนในจินตนาการ นอกจากนี้ในเด็กที่มักจะถูกรังแกหรือเด็กที่ไม่ได้ของที่ปรารถนา ก็มักจะมีการสร้างเพื่อนในจินตนาการมาขึ้นมา ปกป้องหรือช่วยลดความกดดันกับสถานการณ์การถูกข่มเหง และในหลายๆ กรณี
เช่นเดียวกับงานวิจัยของ แอนนา โทบี้ นักจิตวิทยาที่ติดตามผลเด็กอายุ 4-8 ขวบ 20 คน ที่มีสัตว์เลี้ยงที่มองไม่เห็น และมีผู้ปกครองสมมติ ซึ่งพบว่าจินตนาการเหล่านั้นเป็นเรื่องน่ายินดี เนื่องจากเด็กที่มีเพื่อนในจินตนาการมักมีทักษะการสื่อสารดีกว่าเด็กอื่นๆ
ทั้งนี้ในรายงานข่าว นักวิจัยได้ประเมินมีเด็กถึง 65% ที่มีการสร้างเพื่อนในจินตนาการ ในช่วงเวลาหนึ่งของชีวิต
และจากรายงานข่าวขั้นต้นจะเห็นได้ว่าการที่เด็กมีเพื่อนในจินตนาการนั้นถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะในเรื่องนี้นับว่าเป็นพัฒนาการของเด็กอย่างหนึ่ง และการที่เด็กมีเพื่อนสมมติในจินตนาการ นอกจากจะเป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริมให้เด็กมีทักษะที่ดี โดยเฉพาะในด้านการสื่อสารและความคิดสร้างสรรค์ ก็ยังนับว่าเป็นการสร้างกลไกของเด็กในการป้องกันตัวเองจากเหตุการณ์หรือสถานการณ์ที่ไม่พึงปรารถนาอีกด้วย
ดังนั้นพ่อแม่จึงไม่ควรวิตกกับเรื่องนี้จนเกินไป เพราะถึงว่าเป็นเรื่องปกติของเด็ก และอย่าพยายามห้ามปรามหรือทำเป็นไม่สนใจกับเพื่อนในจินตนาการของลูก เพราะจะทำให้เด็กไม่เกิดการเรียนรู้และมีพัฒนาการที่เหมาะสม แต่ก็ควรที่จะดูแลอย่างใกล้ชิด สอบถามถึงเพื่อนในจินตนาการของเด็ก คุยกับเด็กและเสมือนคุยกับเพื่อนในจินตนาการของเด็กด้วย เพราะการที่เด็กสร้างเพื่อนในจินตนาการ อาจไม่ใช่เพราะผลจากพัฒนาการเพียงอย่างเดียว แต่อาจจะเป็นการแจ้งเตือนถึงความแปรปรวนในอารมณ์ของเด็กได้ด้วยเช่นกัน
ซึ่งตามความเห็นของ ดร.หลุยส์ นิวแมน จิตแพทย์เด็กชาวออสเตรเลีย ผู้อำนวยการสถาบันจิตเวชนิวเซาธ์เวลส์ ที่ได้กล่าวว่า เพื่อนในจินตนาการเป็นสัญญาณเตือนถึงความแปรปรวนทางอารมณ์ของเด็กๆ ซึ่งบ่อยครั้งที่เด็กจะสร้างเพื่อนในจินตนาการขึ้นมา เช่นในเวลาที่เหงา เศร้า ไม่อยากเล่นกับเพื่อนๆ เพราะมักโดนแกล้ง ซึ่งก็มีแนวโน้มเกี่ยวพันกับอารมณ์และปัญหาครอบครัวที่รบกวนจิตใจเด็กด้วย
เด็กในวัย 4-8 ขวบ มักจะเป็นวัยที่เริ่มมีเพื่อนในจินตนาการ ซึ่งจะแต่งต่างไปตามแต่ประสบการณ์และจินตนาการความคิดสร้างสรรค์ของแต่คน ที่อาจจะได้พบเห็นจากสิ่งรอบๆตัวของเด็ก สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่พ่อแม่ความให้ความเข้าใจและช่วยส่งเสริมสิ่งที่ดีหรือลดทอนสิ่งที่เป็นปัญหาให้กับเด็ก มากกว่าที่จะมาวิตกกังวลกับสิ่งที่เด็กทำหรือเรียนรู้ เพราะสิ่งเหล่านี้นับว่าเป็นครูที่ดีที่จะช่วยให้เด็กพัฒนาต่อไปได้ตามแนวทางที่เหมาะสม ซึ่งก็จะต้องขึ้นอยู่พ่อแม่ที่จะคอยดูแลประคับประคองให้เด็กไปในแนวทางที่ถูกหรือจะทำการหยุดยั้งมัน แล้วปล่อยให้เด็กเดินไปตามแนวทางของคุณเอง คุณจะเลือกแบบไหนกันล่ะ?...

อ้างอิงข้อมูลจาก

ห้องสมุด E-LIB

“เรื่องปกติลูกมีเพื่อนในจินตนาการ กระตุ้นการสร้างสรรค์-ความมั่นใจ” ผู้จัดการออนไลน์ (www.manager.co.th) 15 กรกฎาคม 2550 13:33 น.

สิทธิแห่งความเท่าเทียมกัน สิ่งสำคัญที่ผู้ใหญ่ควรเป็นแบบอย่าง

ผู้เขียน : นายนรรัชต์ ฝันเชียร


ได้มีโอกาสไปร่วมฟังเสวนาที่จัดขึ้น โดยโครงการสตรีและเยาวชนศึกษา ร่วมกับโครงการศึกษาศิลปศาสตรมหาบัณฑิตสตรีศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(ท่าพระจันทร์) ในหัวข้อเสวนาเรื่อง “เศรษฐศาสตร์การเมืองเรื่องเพศ (Political Economy of gender) ซึ่งได้รับความสนใจจากหน่วยงานและบุคคลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสตรี เยาวชน รวมไปถึงหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิทางเพศ ซึ่งได้ให้ความสนใจในการเสวนาครั้งนี้เป็นอย่างมาก
คำว่า เศรษฐศาสตร์การเมือง (Political Economy) นั้น Webster New World Dictionary ได้อธิบายถึงคำนี้ไว้ว่า เป็นชื่อดั้งเดิมของวิชาเศรษฐศาสตร์ แต่ปัจจุบันเศรษฐศาสตร์การเมืองถือเป็นสำนึกคิดทางเศรษฐศาสตร์เรื่องหนึ่ง ที่มีความแตกต่างจากแนวคิดของสำนักคิดทางเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก ซึ่งความสำคัญของคำว่าเศรษฐศาสตร์การเมือง นั้น เป็นเรื่องที่น่าสนใจเพราะเชื่อมโยงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ ซึ่งในปัจจุบันนี้เป็นวิชาที่แยกออกจากกันอย่างเด็ดขาด ส่วนสำหรับคำว่า เศรษฐศาสตร์การเมืองเรื่องเพศ นั้น ในการประชุมเสวนาในครั้งนี้ ได้ให้สาระสำคัญเกี่ยวกับหัวข้อนี้เอาไว้ว่า เป็นการนำเสนอแนวคิดทฤษฎี และรูปธรรมของความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างเพศที่ไม่เท่าเทียมกันในสังคมไทย จากมุมมองสหวิทยาการในแนวสตรีศึกษาเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจเชื่อมโยงระหว่างกันอย่างเป็นระบบ ซึ่งมีความสอดคล้องกับบรรยากาศของสังคมในตอนนี้ที่อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่ต้องตัดสินใจในการที่จะต้องเลือกเส้นทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและการสร้างวัฒนธรรมใหม่ของความเสมอภาคและความสมานฉันท์
เนื้อหาส่วนใหญ่ของการเสวนามักจะกล่าวถึงสิทธิต่างๆที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างเพศหญิงและเพศชาย และรวมไปถึงเพศที่หลากหลาย(GLBT)อื่นๆ ในแนวทางที่แตกต่างกันไป ทั้งทางด้านธุรกิจ การเมือง และสังคมต่างๆ
ในแวดวงการเมืองนั้น การเปลี่ยนแปลงของการเมืองภาครัฐมีผลกระทบต่อขบวนการทางสังคมต่างๆ ซึ่งโครงสร้างอำนาจนั้น มีผลให้เป็นการเปิดและปิดช่องทางสำหรับการมีส่วนร่วมทางการเมืองของพลเมืองและขบวนการทางสังคมต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มสตรี และกลุ่มเพศที่หลากหลาย ที่มีการปิดกั้นสิทธิทางการเมืองอยู่ ซึ่งนับว่าเป็นการขัดต่อความคิดทางด้านความเท่าเทียมกันทางเพศ
ส่วนในวงการธุรกิจนั้น ผู้หญิงกับผู้ชาย จะมีอัตราการเติบโตและค่าครองชีพที่ต่างกันแทบจะชัดเจน ซึ่งผู้หญิงจะมีอัตราที่ต่ำกว่าชาย อย่างเห็นได้ชัด จึงทำให้ความมั่นคงและการประสบความสำเร็จในเส้นทางธุรกิจนี้ ผู้ชายจะมีสิทธิมากกว่าผู้หญิง
นอกจากนี้ในด้านสังคม กลุ่มสตรีและกลุ่มหลากหลายทางเพศก็ได้มีการเรียนร้องถึงสิทธิที่พึ่งจะได้จากการที่เป็นมนุษย์ที่อยู่บนฐานแห่งความเท่าเทียมกัน สิทธิในการได้รับการยอมรับ สิทธิในการได้รับการปฏิบัติเฉกเช่นเดียวกันเพศหญิงหรือเพศชาย รวมไปถึงสิทธิทางสังคมต่างๆที่พึ่งจะได้
ซึ่งจากสาระสำคัญของการเสวนาจะเห็นได้ว่า ปัจจุบันนี้ การเรียนร้องสิทธิให้อยู่บนฐานแห่งความเท่าเทียมกันของกลุ่มขบวนการต่างๆนั้น นับวันก็จะเริ่มชัดเจนและแข็งแกร่งมากขึ้น สิทธิของสตรีเริ่มพัฒนามาสู่ความเท่าเทียมกับสิทธิของบุรุษมากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการต่อสู้ของกลุ่มองค์กรสตรีที่อยากเห็นการยอมรับในตัวของผู้หญิงโดยทั่วไป และสำหรับกลุ่มเพศที่หลากหลายก็ได้มีการต่อสู้เพื่อให้ได้รับการยอมรับ เช่นเดียวกัน ซึ่งกลุ่มเพศที่หลากหลายบางกลุ่มก็ได้รับการยอมรับ ส่วนอีกบางกลุ่มก็ยังจำเป็นต้องได้รับการพิสูจน์และเห็นด้วยจากสังคม
สิทธิของความเท่าเทียมกันนั้น ผู้ตั้งกฎเกณฑ์และวางแนวทางที่สำคัญก็คือผู้ใหญ่ แต่ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นนั้น นอกจากผู้ใหญ่จะเป็นผู้รับแล้ว เด็กก็เป็นผู้ได้รับผลนั้นด้วย ดังนั้นการเข้าถึงสิทธิความเท่าเทียมกันของเด็กนั้น จึงขึ้นอยู่กับทัศนคติและยุคสมัยที่ผู้ใหญ่ได้วางรากฐานไว้ ถ้าสังคมใดที่ผู้ใหญ่ไม่ได้ส่งเสริมตรงส่วนนี้ เด็กยุคใหม่ก็จะยังไม่เห็นถึงความสำคัญของความเท่าเทียม ตรงกันข้าม ถ้าผู้ใหญ่ในสังคมร่วมมือกันส่งเสริมในด้านสิทธิที่เท่าเทียม ก็จะช่วยให้เด็กมีจิตสำนึกตรงส่วนนี้กันตามไปด้วย
การส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้ความเท่าเทียมกันนั้น ครอบครัวนับว่าเป็นตัวผลักดันที่สำคัญที่สุด ผู้เป็นพ่อและแม่ ต้องรู้จักที่จะส่งเสริมให้เกิดการรักษาและปกป้องสิทธิของกันและกัน ซึ่งจะตัวสำคัยที่จะทำให้เด็กสามารถที่จะเรียนรู้จากจุดนี้ได้ แต่ถ้าครอบครัวไหนมีแม่หรือพ่อทำหน้าที่ควบคุมดูแลสิทธิแต่เพียงผู้เดียวแล้ว ก็อาจกลายมาเป็นตัวแบบที่เด็กจะเลียนแบบจนกลายเป็นบุคคลที่ไม่คำนึงถึงสิทธิความเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเท่าเทียมกันทางเพศได้
สำหรับประเทศไทยกับการส่งเสริมสิทธิของทั้งหญิงและชาย รวมไปถึงกลุ่มเพศที่หลากหลาย นับได้ว่าเป็นประเทศหนึ่งที่มีการตื่นตัวในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ถึงแม้ว่าวัฒนธรรมของไทยที่มีมาแต่ช้านานนั้น มักจะยกสิทธิต่างๆ ให้ผู้เป็นชายมีมากกว่าผู้เป็นหญิง แต่ประเทศไทยเราก็ได้มีการรณรงณ์ส่งเสริมสิทธิสตรี และกลุ่มเพศหลากหลายกันมากอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประเทศไทยก็พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ต่างๆเพื่อก้าวเข้าสู่แนวทางแห่งความเท่าเทียมกันอย่างเหมาะสมและเป็นตัวของตัวเอง ปัจจุบันไทยไม่ได้ปิดกั้นสิทธิของสตรีและของกลุ่มเพศที่หลากหลาย อย่างที่เคยเป็นมาตั้งแต่ยุคอดีตอีกต่อไปแล้ว ผู้หญิงและกลุ่มเพศหลากหลาย เริ่มได้รับสิทธิต่างๆมากขึ้น ซึ่งในไม่ช้าก็จะทัดเทียมกับสิทธิของผู้ชาย ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ดีในสังคมประชาธิปไตย แต่ก็คงยังมีบ้างที่อาจจะต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติของผู้ชายบางกลุ่มที่ยังคงเห็นว่าสิทธิของผู้ชายตั้งมากกว่าผู้หญิง ซึ่งจำเป็นที่จะต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน
ถึงเวลานี้เราคงต้องดูกันต่อไปว่า แนวทางของสิทธิแห่งความเท่าเทียมกัน ในประเทศไทยและในสังคมโลกจะเดินต่อไปอย่างไร สำคัญที่สุดคือการที่เด็กเรียนรู้จากผู้ใหญ่ในเรื่องต่างๆ ซึ่งถ้าผู้ใหญ่เข้าใจและให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมสิทธิที่เท่าเทียมกัน ก็จะเป็นแรงผลักดันที่ดีให้เด็กรุ่นใหม่ที่กำลังจะกลายเป็นผู้ใหญ่ในอนาคตเข้าใจและเคารพต่อสิทธิแห่งความเท่าเทียมกันในจุดนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมากต่อประชาธิปไตยในโลกปัจจุบัน...