วันอังคารที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2551

โรคซึมเศร้าในเด็ก สัญญาณอันตรายของชีวิต


ผู้เขียน : นายนรรัชต์ ฝันเชียร

คุณคงพบเจอเด็กแบบนี้บ้างหรือไม่ เด็กที่มักจะป่วยตอนจะไปโรงเรียน เด็กไม่ค่อยพูดจากับใครแม้กับคนในครอบครัว หรือ เด็กที่ติดพ่อแม่มากๆจนไม่ยอมที่จะห่างออกไปไหน ระวังให้ดีนะครับ นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนอันเป็นเหตุมาจากโรคซึมเศร้าก็เป็นไป
โรคซึมเศร้านั้น มีชื่อทางวิชาการว่า major depressive disorder นับเป็นโรคที่สำคัญทางจิตเวชชนิดหนึ่ง ที่เกิดผลทั้งทางร่างกาย อารมณ์ สังคมและสติปัญญา ทำให้มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน และส่งผลเสียต่อการประสานความคิดและการตัดสินใจที่เหมาะสม ซึ่งในสมัยก่อน โรคซึมเศร้าไม่ได้ระบุไว้ว่าเป็นโรค เพราะเนื่องจากว่าอาการของโรคซึมเศร้านั้น เป็นสิ่งที่แสดงออกมาตามปกติของจิตมนุษย์ที่เกิดอารมณ์ซึมเศร้า เป็นอารมณ์ที่มาจากความกดดัน ผิดหวัง หรือความที่ไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง ทำให้บุคคลเครียด มองโลกในแง่ร้าย และดำเนินชีวิตแตกต่างไปจากเดิม แต่ปัจจุบันนี้ได้มีการวิจัยและพบว่าโรคซึมเศร้านั้นเป็นโรคที่ทวีความรุนแรงมากกว่าอาการซึมเศร้าธรรมดา ซึ่งมีผลให้ผู้ป่วยมีทัศนคติต่อชีวิตทางลบ จนถึงขั้นฆ่าตัวตาย ที่กำลังเป็นปัญหาต่อวิถีชีวิตของคนในปัจจุบันนี้
โรคซึมเศร้านั้น เพศหญิงจะมีสิทธิ์เป็นมากกว่าเพศชาย แต่ก็ใช่ว่าเพศชายจะไม่มีสิทธิ์เป็นโรคนี้ เพราะอย่าลืมว่า โรคซึมเศร้าเป็นโรคทางความรู้สึก ทัศนคติ ซึ่งใครก็สามารถเป็นโรคนี้ได้
อาการของโรคซึมเศร้า กล่าวโดยทั่วไปก็จะคล้ายกับอาการของคนซึมเศร้าทั่วไป แต่ลักษณะอาการจะหลากหลายกว่า ไม่ว่าจะเป็น เศร้าซึม ร้องไห้ โกรธ หงุดหงิด กระวนกระวายอยู่ไม่สุข หรืออาจจะแสดงออกมากกว่าความเป็นจริง เช่น พูดมาก หรือไม่ก็ร่าเริงเกินไป ผู้ป่วยมักนอนไม่หลับ บางรายก็อาจจะหลับลึกเกินกว่าปกติ อ่อนเพลีย คิดมาก ไม่มีสมาธิ และความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นต่ำ ส่วนทางด้านความคิดของผู้ป่วยก็จะมีทัศนคติต่อชีวิตในทางลบ รู้สึกผิด รู้สึกไร้ค่า จนถึงขั้นทำร้ายตัวเองและเลยไปถึงการฆ่าตัวตายในที่สุด
เนื่องจากว่าอาการซึมเศร้าทั่วไปของมนุษย์นั้น เกิดจากสิ่งแวดล้อมที่เป็นปัญหามากระตุ้น ส่งผลให้เกิดการแปรปรวนของอารมณ์เท่านั้น แต่สำหรับโรคซึมเศร้า นอกจากจะมาจากอาการซึมเศร้าแล้ว ก็ยังมีสาเหตุอื่นอีก เช่น พันธุ์กรรม ความผิดปกติของสารเคมีในสมองโดยเฉพาะกับสารเคมีสามตัวคือ สารสีโรโทนิน นอร์เอปิเนพริม และโดปามีน และรวมไปถึงเป็นผลพวงของปัญหาจิตเวชอื่นๆ อย่างเช่นโรคเครียด โรควิตกกังวล เป็นต้น
และยิ่งในปัจจุบันนี้ปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมได้ส่งผมกระทบต่อวิถีชีวิตของบุคคลมากมายหลากหลายรูปแบบ ทำให้ปัญหาของโรคซึมเศร้านี้แผ่ขยายของไปในคนแทบทุกกลุ่มไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ ผู้ใหญ่ จนมาถึงวัยรุ่นหนุ่มสาว ทั้งๆที่ปัญหาโรคซึมเศร้านี้ควรที่จะเป็นปัญหาของกลุ่มผู้สูงอายุที่วิกลกังวลเกี่ยวกับคนรุ่นหลังและชีวิตบั่นปลาย หรือวัยทำงาน ที่เกิดจากอารมณ์ความเครียดในงานและครอบครัว
และนอกจากที่ผู้ใหญ่จะมีสิทธิ์ที่จะเป็นโรคนี้แล้ว เด็กก็มีสิทธิ์ที่จะเป็นโรคซึมเศร้าด้วยเช่นกัน โดยสำหรับโรคซึมเศร้าในเด็กนั้น ตรวจพบได้ยากกว่าผู้ใหญ่ตรงที่ว่า บางครั้งอารมณ์ซึมเศร้าอาจจะเป็นหนึ่งในพัฒนาการของเขาที่กำลังพัฒนา จึงทำให้การวินิจฉัยว่าเด็กจะเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ อาจคลาดเคลื่อนไม่ชัดเจนแน่นอน ซึ่งสาเหตุที่เกิดกับเด็กนั้น นอกจากที่เป็นผลมาจากพันธุกรรมและความผิดปกติของสมอง ก็อาจเป็นผลมาจากสภาพแวดล้อมรอบตัวของเด็ก บางคนถูกเพื่อนแกล้งหรือไม่ก็ได้รับผลกระทบจากการสอนของครูที่ขาดจิตวิทยาและทักษะที่เหมาะสมที่โรงเรียน จนไม่อยากมาโรงเรียน ซึ่งบางครั้งจะพบว่าเด็กจะมีอาการป่วย เมื่อถึงเวลาไปโรงเรียนเป็นต้น เด็กบางครั้งต้องได้รับผลกระทบจากครอบครัวที่ไม่อบอุ่นหรือเป็นครอบครัวที่เข้มงวดเกินไปก็จะทำให้เด็กมีอาการเครียด เก็บกด จนถึงขณะฆ่าตัวตาย อย่างที่เห็นเป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ ที่วัยรุ่นประชดครอบครัวด้วยการฆ่าตัวตาย ซึ่งปัญหาเหล่านี้ นับได้ว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องได้รับการเยียวยาเป็นอย่างยิ่ง เพราะในวัยเด็กนั้น นับว่าเป็นวัยแห่งการพัฒนาในทุกๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นบุคลิกภาพ สภาพจิตใจและลักษณะนิสัย ก็ล้วนแล้วแต่เริ่มต้นการพัฒนาในวัยเด็กนี้แทบทั้งสิ้น ซึ่งถ้าเด็กเกิดเป็นโรคซึมเศร้าแล้ว ก็จะส่งผลให้การพัฒนาของเด็กเกิดการบกพร่องไม่สมบูรณ์ อันจะเป็นผลเสียตามมาเมื่อเด็กโตขึ้น และยิ่งถ้าโรคนี้ไม่ได้รับการแก้ไขนั้น ก็จะส่งผลให้อาการของโรคทวีความรุนแรงขึ้นตามช่วงอายุแต่ละวัย ส่งผลให้บุคคลนั้นไม่สามารถดำเนินชีวิตในสังคมอย่างเป็นสุขได้
การแก้ไขปัญหาของโรคซึมเศร้านี้ ทั้งพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูบาอาจารย์ รวมไปถึงเพื่อฝูงและบุคคลที่เกี่ยวข้อง ควรที่จะสอดส่องดูแลเด็กในปกครองว่ามีพฤติกรรมที่แตกต่างไปจากเดิมในระดับที่ผิดปกติบ้างหรือไม่ ซึ่งถ้ามีการตรวจพบก็คงที่จะช่วยกันหาวิธีแก้ไข เพื่อลดและรักษาอาการของโรคซึมเศร้านั้น และเพื่อความมั่นใจก็ควรที่จะต้องไปหากุมารแพทย์เพื่อตรวจสอบหาทางวินิจฉัยอย่างเหมาะสมต่อไป
โดยในการรักษาโรคซึมเศร้านั้นตามปกติจะดูตามอาการและความรุนแรงของโรค เช่นถ้าเป็นชนิดรุนแรง ก็จะใช้การช็อตไฟฟ้า Electroconvulsive therapy (ECT) แทนการใช้ยา ในกรณีที่ว่าผู้ป่วยไม่สามารถรับประทานยาได้ หรืออาจจะใช้วิธีการให้ยากับคนที่มีอาการปานกลาง และใช้วิธีแก้ตามอาการสำหรับกลุ่มที่มีอาการเพียงเล็กน้อย
และสมมุติว่าถ้าเกิดว่าเรามีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคซึมเศร้า และโดยเฉพาะที่เป็นกับเด็ก อันดับแรกที่เราควรทำก็คือ การให้ความรักความเข้าใจ เพื่อให้เขาได้รู้สึกถึงความปลอดภัย ต่อมาก็ควรที่จะหากิจกรรมสนุกสนานให้เขาได้เข้าร่วมเพื่อผ่อนคลายความเครียดและลดอาการคิดมากของเขา พยายามให้เขาได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ และควรที่จะกำจัดและเลื่อนสาเหตุของปัญหาที่ส่งผลต่ออาการโรคซึมเศร้าของเขาออกไปจนกว่าเขาจะดีขึ้น และพยายามให้เขาได้ร่วมงานสังคมและมีโอกาสได้อยู่กับเพื่อนฝูงแทนที่จะอยู่คนเดียว พาไปวัดเพื่อนั่งสมาธิวิปัสสนากรรมฐาน เพื่อเสริมสร้างจิตใจที่ดีงามและเป็นการเติมพลังใจและกำลังใจให้กับชีวิต และที่สำคัญที่สุด ควรสร้างให้เขาได้เห็นถึงคุณค่าในตัวเอง ซึ่งมีผลที่ดีของบุคคลรอบข้างด้วย
โรคซึมเศร้า แม้ดูว่าเป็นโรคใหม่ แต่ที่จริงแล้ว โรคนี้แฝงอยู่ในคนทุกคนมาทุกยุคทุกสมัยนั้นเอง เพียงแต่เราไม่ได้ใส่ใจถึงผลกระทบของโรคเท่าที่ควร แต่ ณ เวลานี้เราควรที่จะตระหนักได้แล้วว่า โรคซึมเศร้า คือสิ่งที่กำลังกัดกินคนทุกคนที่อ่อนไหวจิตใจอ่อนแอ โดยเฉพาะกับเด็กๆที่กำลังเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ดีของชาติ โดยโรคนี้สามารถที่จะแผ่กระจายเข้าไปในความรู้สึกนึกคิดของเด็กๆในวัยที่กำลังพัฒนา จนกลายเป็นอุปนิสัยที่ติดตัวเด็กจนยากที่จะแก้ไข ดังนั้นเราจึงต้องช่วยกันสอดส่องดูแล และให้การช่วยเหลือ แก่ผู้ที่มีอัตราเสี่ยงและกำลังเป็นโรคซึมเศร้านี้ เพียงให้สังคมไทยเป็นสังคมที่น่าอยู่ รักใคร่กลมเกลียว รู้รักสามัคคี เอื้ออารีย์ต่อกัน และสิ่งสำคัญที่สุด คือปราศจากโรคซึมเศร้า ซึ่งข้าพเจ้าหวังว่าจะเป็นไปได้ในไม่ช้า

อ้างอิงข้อมูล โดย:
http://www.siamhealth.net/Disease/neuro/psy/depression/depression.htm
http://www.mahidol.ac.th/mahidol/ra/rapc/gp_dep.html


ไม่มีความคิดเห็น: