วันเสาร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2553

การเรียนรู้ภาคประชาชน

การเรียนรู้ภาคประชาชน
Published with Blogger-droid v1.6.1
Published with Blogger-droid v1.6.1

วันพุธที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2551

คำหยาบ...ค่านิยมภาษาที่เปลี่ยนไป หรือสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลง

นายนรรัชต์ ฝันเชียร



“คำหยาบ” ในสายตาของใครหลาย ๆ คน อาจมองว่าเป็นเรื่องที่ได้ยินกันจนชินหู โดยเฉพาะในช่วงนี้ ที่ท่ามกลางกระแสการเมืองกำลังร้อนระอุ ทำให้ต่างฝ่ายต่างแสดงออกเพื่อนำเสนอความคิดเห็นของฝ่ายตน และพยายามหักล้างความคิดเห็นของฝ่ายตรงข้าม ซึ่งบางครั้งถึงขนาดต้องใช้วาจาหยาบคาย เพื่อกล่าวอ้างโจมตีกัน จนกลายเป็นการสร้างค่านิยมการใช้คำหยาบอย่างไม่ถูกต้อง
แต่ถ้ามองลึกในเรื่องนี้ลงไปแล้ว จะเห็นได้ว่าไม่ใช่แค่เรื่องของการเมืองเท่านั้นที่กำลังสร้างค่านิยมเช่นนี้ ปัจจุบันสื่อภาพยนตร์หลากหลายเรื่องก็ล้วนแสดงออกมาโดยการใช้คำหยาบคาย ซึ่งบางครั้งดูเป็นสิ่งที่เกินความจำเป็น และที่น่าตกใจก็คือ ส่วนใหญ่ภาพยนตร์ที่ใช้คำหยาบ จะเป็นภาพยนตร์สำหรับวัยรุ่นและภาพยนตร์เบาอารมณ์ นอกจากนี้ ในสื่อโทรทัศน์ จากการสำรวจของเอแบคโพลล์เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา พบว่ามีรายการที่ใช้คำหยาบคายถึงกว่า ร้อยละ 29.9 เลยทีเดียว
จากเว็บไซต์ วิกิพีเดีย ได้นิยามคำว่า “คำหยาบ” เอาไว้ว่า หมายถึง คำที่สื่อถึงความไม่สุภาพ สื่อความหมายในแง่ที่ไม่ดี หรือ ฟังไม่ไพเราะ ซึ่งถ้าแบ่งตามลักษณะการใช้แล้ว คำหยาบ สามารถแบ่งได้เป็นสองกลุ่ม ใหญ่ ๆ คือ กลุ่มของคำไม่ใช่เป็นทางการ เช่น กู มึง ไอ้ อี ตีน ห่า เสือก และ กลุ่มของคำที่สื่อถึงสิ่งที่ไม่เหมาะสม เช่น ควาย เหี้ย หมา เต่า สัตว์ เป็นต้น
กลุ่มของคำที่ไม่ใช่เป็นทางการนั้น อาจแบ่งเป็นคำเก่า เช่น กู มึง ไอ้ อี คำท้องถิ่น เช่น ว่าว ไอ้หม่า และ คำที่แปลงมาจากภาษาอื่น เช่น ฟัก ชิบ เป็นต้น

กลุ่มของคำที่สื่อถึงสิ่งที่ไม่เหมาะสม อาจแบ่งเป็นคำที่สื่อถึงความหมายทางเพศ, คำที่สื่อถึงสิ่งมีชีวิต เช่น ควาย เต่า ลา และคำที่สื่อถึงสภาพไม่เหมาะสม เช่น จน ต่ำ เป็นต้น

ส่วนใหญ่ตามปกติเราจะใช้คำหยาบคายในรูปของการแทนตัวบุคคลกับเพื่อนฝูง เช่น กู ที่แทนถึงตัวเอง และ มึง ที่แทนถึงตัวผู้ที่สนทนาด้วย ซึ่งเป็นวิธีการใช้ปกติทั่วไป อันเป็นแสดงให้เห็นถึงความสนิทสนมแน่นแฟ้นกันมากขึ้น กว่าการที่เราคุยกับเพื่อนฝูงด้วยภาษาสุภาพธรรมดา และไม่ถือว่าเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย แต่เมื่อคำหยาบได้ถูกนำไปใช้ในการล้อเลียน และต่อว่าโจมตีกัน ก็ทำให้คำหยาบคายกลายเป็นเรื่องของการกระทำที่ไม่สมควรอย่างยิ่งก็เป็นได้

การพูดคำหยาบคายตามที่สาธารณชนทั่วไปนั้น หลายคนเข้าใจผิดว่า เป็นการกระทำที่สามารถกระทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย แต่ความเป็นจริงแล้ว ถ้าการพูดคำหยาบคายนั้นเป็นไปเพื่อการต่อว่า หรือทำให้คู่สนทนา หรือคนที่เอ่ยถึงเสียชื่อเสียง การกระทำเช่นนั้นก็เป็นการเข้าข่ายผิดกฎหมาย ในเรื่องของ การดูหมิ่น ซึ่งถ้ากระทำต่อหน้าคู่กรณี ก็จะเป็นความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้า แต่ถ้ากระทำลับหลังก็จะเป็นความผิดฐานดูหมิ่นด้วยการโฆษณา ซึ่งโทษของความผิดนี้ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือ ปรับไม่เกิน 1 พันบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ แล้วแต่กรณี จึงควรที่จะคิดให้ถี่ถ้วนก่อนว่า ควรหรือไม่ควรใช้หรือไม่ อย่างไร

การใช้คำหยาบคายอาจมีผลจากสิ่งแวดล้อม ซึ่งถ้าเขาอาศัยอยู่ในที่ที่มักใช้คำหยาบคายจนติดปาก หรือเด็กที่อยู่กับแม่แล้วแม่พูดคำหยาบใส่กันจนเป็นนิจ ก็มีแนวโน้มว่าเขาหรือเด็กคนนั้น ก็จะติดใช้คำหยาบคายตามไปด้วย แต่หลายครั้งการใช้คำหยาบคายอาจเป็นไปเพื่อการระบายความรู้สึกและสิ่งที่ไม่พึงพอใจในตัวเองก็เป็นได้ และถ้ามีอาการอื่นร่วมด้วยอาจสันนิษฐานได้ว่าเป็นโรคทางจิตเวชบางอย่าง เช่น โรคเกลียดชังตัวเอง เป็นต้น

ในบทความของ ศ.ดร.นพ.วิทยา นาควัชระ เรื่อง ”อย่าเป็น ... โรคเกลียดชังตัวเอง” จากคอลัมน์ "Inside ชีวิต" หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายสัปดาห์ ได้ชี้ให้เห็นถึงลักษณะของคนที่เป็นโรคเกลียดชังตัวเอง ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ การเป็นคนชอบพูดคำหยาบคายด้วยสาเหตุเพราะเห็นตัวเองไม่มีค่า และทำให้คิดว่าสิ่งอื่นไม่มีค่าตามไปด้วย จึงทำให้ออกมาในรูปของการใช้วาจาตามสบายตามสัญชาตญาณดิบ

บางครั้งเราอาจติดใช้คำหยาบคายจนเคยตัว จนลืมไปว่า การใช้คำพูดบางอย่างที่ไม่เหมาะสมต่อหน้าสื่อต่าง ๆ หรือสาธารณชนนั้น เป็นสิ่งไม่พึงกระทำเป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมที่ไม่ดี อันเป็นการทำลายเอกลักษณ์ของชาติแล้ว ยังส่งผลต่อผู้ที่มารับฟัง โดยเฉพาะกับเด็กและเยาวชนที่เป็นอนาคตของชาติอีกด้วย

ข้าพเจ้าหวังว่า ต่อไปการใช้คำหยาบคายในประเทศไทยจะลดน้อยลง ถ้าคนไทยรู้จักที่จะเอาใจใส่ผู้อื่นมากขึ้น ลองนึกว่า ถ้ามีคนพูดคำหยาบเช่นนี้กับเรา เราจะรู้สึกเช่นไร ซึ่งคนอื่นก็รู้สึกเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ดี แม้ว่าปัจจุบันสื่อต่าง ๆ จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เด็กและเยาวชนในยุคสมัยใหม่นี้ บางคนสามารถที่จะเรียนรู้ แยกแยะได้ดีว่าสิ่งไหนควรและสิ่งไหนไม่ควร ซึ่งก็นับว่าเป็นเรื่องที่ดี ตรงกันข้ามกับเด็กบางกลุ่มที่ไม่สามารถแยกแยะผิดชอบชั่วดีได้ มันจะเป็นสิ่งที่เลวร้ายติดตัวเด็กไปอีกนานเท่าใด แต่ถ้าทุกคนร่วมมือกัน ลดการใช้คำหยาบที่บางครั้งมันก็ไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นต้องใช้เลยลง อาจจะทำให้เมืองไทยน่าอยู่ขึ้นอีกมาก

เพราะแม้ว่าจะต่างคนต่างความเห็น แต่ถ้าไม่มีคำหยาบเข้ามาเกี่ยวข้อง ความขัดแย้งต่าง ๆ ก็อาจจบลงได้รวดเร็ว ก็เป็นได้ ... แล้วคุณไม่คิดเช่นนั้นหรือ ?



อ้างอิง

http://www.phrathai.net/node/1191

http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%84%E0%B8%B3%E0%B8%AB%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%9A

http://72.14.235.104/search?q=cache:I8hyxjzp_fIJ:www.khonkaenlink.info/news/news_view.asp%3Fid%3D5215+%E0%B8%84%E0%B8%B3%E0%B8%AB%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%9A%E0%B8%84%E0%B8%B2%E0%B8%A2%2B%E0%B8%88%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%B2&hl=en&ct=clnk&cd=61&gl=th

http://deltadrive.exteen.com/20070601/entry-1